ศาล รธน.ไม่ห่วงมีมวลชนมากดดันการไต่สวนแก้รัฐธรรมนูญ

ศาล รธน.ไม่ห่วงมีมวลชนมากดดันการไต่สวนแก้รัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้ร้องนำพยานเข้าไต่สวนต่อศาล 7 คน ฝ่ายผู้ถูกร้อง 8 คน ไม่ห่วงมีมวลชนมากดดัน ให้เจ้าหน้าที่สำนักงานดูแลตามสถานการณ์

นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้อง ผู้ถูกร้องและพยานของทั้ง 2 ฝ่าย ได้ยื่นขอเข้าไต่สวนต่อศาลฯ ในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 รวม 5 คำร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และพยานของแต่ละฝ่ายที่มีการยื่นแล้ว โดยมีคำสั่งให้รับบันทึกถ้อยคำของทุกปากรวมไว้ในสำนวน

โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานบุคคลเข้าไต่สวนต่อศาลวันที่ 5 ก.ค. รวม 7 ปาก

ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวันธงชัย ชำนาญกิจ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ นายวรินทร์ เทียมจรัส นายบวร ยสินทร ผู้ร้อง นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา และนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนผู้ถูกร้องให้เข้าทำการไต่สวนต่อศาลวันที่ 6 ก.ค. รวม 8 ปาก ประกอบด้วย นายวัฒนา เซ่งไพเราะ หรือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายสามารถ แก้วมีชัย นายชุมพล ศิลปอาชา นายภราดร ปริศนานันทกุล ผู้ถูกร้องและตัวแทน นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และนายอุดมเดช รัตนเสถียร คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะตุลาการกำหนดนัดไต่สวนทั้งสองวันในเวลา 09.30 น.

นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับพยานบุคคลที่ศาลเรียกไปนั้น หากว่าตัวพยานบุคคล โดยเฉพาะนายสมศักดิ์

ซึ่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องการมาให้ถ้อยคำด้วยตนเอง ศาลก็ยินดี แต่หากไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้ ก็สามารถมอบให้นายวัฒนา เข้าไต่สวนแทนได้ ส่วนการที่คณะตุลาการไม่อนุญาตให้มีการไต่สวนพยานทุกปากตามที่ผู้ร้องและผู้ถูกร้องขอ เนื่องจากเห็นว่า บันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงของพยานที่ศาลไม่ได้เรียกเข้าไต่สวนมีความชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนพยานที่ศาลอนุญาตให้เข้ารับการไต่สวนก็ใช้ 2 หลักเกณฑ์การพิจารณาคือ 1.เปิดโอกาสให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้มาชี้แจงต่อศาล โดยผู้ร้องมีจำนวน 5 ราย ผู้ถูกร้อง 6 ราย 2.ให้โอกาสพยานของแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 2 คน โดยให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการตรากฎหมาย ซึ่งฝ่ายผู้ร้องเป็นนายสุรพล และนายเดชอุดม ส่วนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องคือ นายโภคิน และนายอุดมเดช

โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดคุยกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะถ่วงเวลาในการวินิจฉัยคดีนี้

โดยการพิจารณาวินิจฉัยจะเป็นไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่ได้พูดคุยกรณีที่มีกระแสว่าจะมีกลุ่มมวลชนมากดดันศาลรัฐธรรมนูญในวันไต่สวน โดยตุลาการยังคงทำหน้าที่ตามปกติ ถ้าจะมีมวลชนเดินทางมาชุมนุมก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานในการดูแล ซึ่งขณะนี้การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็จะเป็นไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้อภิปรายถึงการไต่สวนว่าจะมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ แต่เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายใด รวมถึงสื่อมวลชน มีคำขอเข้ามา ซึ่งหากมีการยื่นคำร้องเข้ามา ตุลาการก็จะมีการพิจารณา

นายกมล โสตถิโภคา โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายชนะ เทพาศักดิ์ กับพวก ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
 
การที่นายพิฑูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการรัฐสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมาพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการการกระทำล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า นายพิฑูรและนายสมศักดิ์ กระทำการตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างจริง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย.- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์