เมื่อถามถึงโครงการขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา พบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามว่าประเทศไทยควรมีระบบเตือนภัยทางธรรมชาติ
เช่น มรสุม พายุงวงช้าง น้ำท่วม ปัญหาสึนามิ แผ่นดินไหว หรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ระบุเห็นด้วยกับระบบเตือนภัย แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ถ้ามีชาติใดชาติหนึ่งมาช่วยศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศของโลกในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 เห็นด้วย และเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่องค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกาจะใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางศึกษาชั้นบรรยากาศของโลก การก่อตัวของก้อนเมฆ มรสุมต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.5 เห็นด้วย
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า
โครงการขององค์การนาซ่าครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการทำให้เป็นไปตามภารกิจนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศ แต่จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ภารกิจการใช้สนามบินอู่ตะเภาแบบชั่วคราวขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นถ้าหากว่า ฝ่ายการเมืองของไทยจริงใจไม่นำประเด็นขัดแย้งในหมู่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้และองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกากับรัฐบาลไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านภารกิจแห่งรัฐในนโยบายสาธารณะไว้อย่างครบองค์ประกอบทั้งในเรื่องของการกำหนดปัญหาที่ชัดเจน (Problem Stream) ข้อเสนอโครงการเชิงนโยบาย (Policy-Proposal Stream) และกระแสหลักทางการเมือง (Political Stream) ที่ทุกองค์ประกอบมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อมนุษยชาติร่วมกัน แต่เมื่อมีประเด็นปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นที่อาจลุกลามถึงการเมืองระหว่างประเทศ จึงน่าพิจารณาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้
ประการแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีการกำหนดประเด็นสำคัญ (Issue Framing) ไว้เพื่อรณรงค์ล่วงหน้าที่สื่อสารแบบเข้าใจง่ายกับสาธารณชนต่อโครงการนี้
เช่น ประเทศไทยมีโอกาสเปิดศูนย์กลางศึกษาชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อมนุษยชาติร่วมกับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา หรือ กำหนดเป็นภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายว่า ประเทศไทยก้าวล้ำนำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ใส่ใจศึกษาการก่อตัวของมรสุม พายุงวงช้าง เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชนคนไทยและมวลมนุษยชาติร่วมกับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ประการที่สอง รัฐบาลไทยต้องหยุดพูดเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะมาพัวพันกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะพูดในเชิงปกป้องสหรัฐอเมริกาหรือในเชิงปกป้องตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ตามเพราะฝ่ายรัฐบาลอาจถูกตั้งสมมติฐานได้ว่า รัฐบาลไทยทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาเพื่อต่อรองเสียเอง
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า “นักการเมืองที่ดีเขาจะใช้วิถีทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งไม่ใช่เพิ่มความขัดแย้งในสังคม”
แต่จากผลสังเกตการณ์พบว่า คุณภาพของนักการเมืองไทยส่วนใหญ่มักไม่ผ่านเกณฑ์นี้ คำพูดคำจาใดจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างไร้เหตุผลนั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลจะไม่ทำกัน และถ้าฝ่ายการเมืองของไทยทำให้สมมติฐานนี้เป็นเรื่องจริงมันก็หนีไม่พ้นสายตาของนักวิทยาศาสตร์การเมือง (Political Scientist) ว่านี่คือ ส่วนหนึ่งของทฤษฎีเกม ที่เล่นกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ คือ ทำให้เกิดประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาเพื่อดึงความสนใจของสาธารณชนออกจากจุดอ่อนประเด็นร้อนอื่นที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแล้วทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมทางการเมือง
ประการที่สาม สิ่งที่คณะทำงานขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา อาจพลาดไปคือ ในตอนแรกของข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ
ได้มีนายทหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้งๆ ที่คงมีคนไทยไม่กี่คนจะทราบว่านายทหารระดับสูงท่านนั้นไม่มีอำนาจสั่งการกองทัพของสหรัฐ แต่ที่ทำได้มากที่สุดคือนายทหารท่านนั้นมีโอกาสพูดกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยตรง และเมื่อปรากฏออกมาในรูปของทหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คนไทยส่วนใหญ่และฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ย่อมจะรู้สึกและคิดระแวงไปได้ต่างๆ นานา อาจทำให้สหรัฐอเมริกาสะดุดขาตนเองจนอาจทำให้โครงการที่ถูกอ้างว่าทำเพื่อมนุษยชาติไม่บรรลุเป้าหมายที่ดีที่สุดที่วางไว้ได้หรือต้องถึงขั้นยกเลิกโครงการไปด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ ก็น่าคิดต่อว่ามันเป็นโครงการเพื่อมนุษยชาติจริงตามกล่าวอ้างหรือไม่
ประการที่สี่ คณะทำงานโครงการนี้ขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา
น่าจะทราบดีว่าการทำโครงการสำคัญระหว่างประเทศที่มีภาษา ทัศนคติและวัฒนธรรมแตกต่างกันนั้นจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมทั้งในเรื่องทรัพยากรที่จำเป็นของโครงการและยุทธศาสตร์การสื่อสารกับมวลชนเพื่อลดแรงเสียดทานจากประชาชนในท้องถิ่น เช่น ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพลเรือนหรือศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่คนไทยรู้จักและเชื่อมั่นศรัทธา เพราะมีผู้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายคน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาแปลเอกสารสำคัญเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ประชาชนคนไทยและคนในภูมิภาคนี้จะต้องทราบว่าได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการและจำเป็นต้องพูดถึงผลกระทบทางอ้อม (Spillovers) ที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิบัติการครั้งนี้ในภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจง่าย
“ข้อเสนอแนะสุดท้ายคือ ประชาชนคนไทยและฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์น่าจะศึกษาโครงการนี้เบื้องต้นผ่านเว็บไซด์ http://espo.nasa.gov/missions/seac4rs/content/SEAC4RS_Home_Page จะพบว่าโครงการนี้มีระยะสั้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคมเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้จะได้นั้นมีคุณค่าต่อแนวทางป้องกันและรักษาชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมาก สามารถป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ และแน่นอนว่าถ้าเรารู้และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น เราก็จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน แต่โครงการนี้จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นี้ได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทยทุกคน และสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมายาวนานคงไม่คิดสั้นหลอกลวงคนไทยและนานาชาติจากโครงการเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนี้กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนก็ย่อมเป็นเรื่องดีที่องค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา จะมีโอกาสแสดงบทบาทสำคัญตามหลักจริยธรรมด้านความโปร่งใส (Transparent Performance) ในสายตาของนานาชาติ” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว