วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป เมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงกรณีที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) เข้ามาดำเนินการโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีในผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภายในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้ดำเนินการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลที่แล้ว และเราเห็นว่าดีจึงมาทำต่อ ดังนั้นฝ่ายค้านจะส่วนที่พูดอะไรก็ให้ระวัง เพราะเป็นคนที่เริ่ม ส่วนที่ทอดเวลามาถึง 2 ปี เพราะไทยจะต้องหานักวิชาการจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น มาร่วมมือดำเนินงานระหว่างนาซ่ากับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสดา และการที่นาซ่าต้องดำเนินการในพื้นที่ไทย สิ่งคโปร์ และกัมพูชา โดยสิ่งที่เขาจะทำใน 2 สิ่ง คือเรื่องเมฆระดับสูงคือเมฆฝนและฝุ่นละอองในระยะสูง ซึ่งเราไม่มีเครื่องมือ และผลการสำรวจก็จะทำให้เรารู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา เพื่อพยากรณ์เรื่องการเกิดฝนและจะช่วยป้องกันเรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้การวิจัยทำร่วมกับฝ่ายสหรัฐและฝ่ายไทย 3-4 คน และที่ต้องมาใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพราะศุนย์ของจิสดาอยู่ที่ศรีราชา และพื้นที่บินสำรวจจะทำในทะเลส่วนใหญ่ และเครื่องบินทั้ง 3 ลำที่จะดำเนินการต้องใช้ระยะวิ่งยาวซึ่งรันเวย์ของอู่ตะเภารองรับได้ เป็นเรื่องปกติเพราะเขาก็เคยทำกับญี่ปุ่น เกาหลีและฮ่องกง มาแล้ว
นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ตนขอย้ำว่าเป็นเรื่องวิชาการ จึงต้องมีคณะกรรมการวิชาการ 1 ชุด มีตนเป็นประธาน ผู้แทนกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประเมินการทำงาน และนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องถามว่าทำไมถึงมีเป้าหมายที่ประเทศไทย เพราะไอทะเลที่จะเป็นเมฆก็จะเกิดในทะเล เหลือแต่ทะเลจุดนี้ที่ยังได้ทำ เมื่อถามว่ามีข้อสังเกตว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่นั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไม่มีใครทำนอกเหนือกฎหมาย ส่วนจะเข้ารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 1 หรือ 2 ฝ่ายกฎหมายจะพิจารณา ยืนยันฐบาลทำตามกฎหมายทุกอย่าง