นายกฯถก10ผวจ.แก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่พอใจบางคนทำงานช้า


วานนี้ ( 14 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจการลงพื้นที่ติดตาม

การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำภารกิจ เป็นวันสุดท้าย โดยเมื่อเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรี รับฟังการบรรยายสรุปจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับการประชุมทางไกลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำด้แก่ จ.ตาก เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ที่ห้องประชุมเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จ.ตาก ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี

เพื่อขอให้ผลักดันร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนพรแม่สอด พ.ศ. .... และร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจแม่สอด พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ "นครแม่สอด" อีกทั้งเสนอของบในการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครแม่สอด 290 ล้านบาท และปรับปรุงสนามบินแม่สอด 406 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมทางไกลกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ต้นน้ำนั้น
 
ผวจ.แต่ละจังหวัดรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการเร่งด่วนว่าจะสามารถเสร็จทันภายในเดือนนี้ หรือเดือน ก.ค.นี้ มีเพียงกรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผวจ.น่าน รายงานว่ากำลังดำเนินการโครงการอยู่ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน มิ
ย. นี้ และโครงการของกรมทางหลวงชนบท จะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรี ส่ายหน้าแสดงอาการไม่พอใจ
แล้วกล่าวว่า ขอให้พื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำที่ยังไม่มีการแก้สัญญา ขอให้แก้สัญญาให้มีการกำหนดวันทำโครงการเสร็จสิ้นเร็วขึ้นกว่านี้ สำหรับกรณีของ จ.สุโขทัยนั้น นายกฯย้ำถึงปัญหาจุดที่มีเขื่อนดินแตก ซึ่งขอให้กระทรวงคมนาคมลงไปช่วย เพื่อไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ และกองทัพบกจะช่วยซ่อมแซมเขื่อนดินที่ต.ยางซ้าย อ.เมือง แตกพังด้วย 


นายกฯถก10ผวจ.แก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่พอใจบางคนทำงานช้า

ขณะที่นายเกษม วัฒนธรรม ผวจ.แพร่ รายงานถึงความคืบหน้าการทำโครงการเร่งด่วนว่าทั้งหมดเสร็จทันในเดือนนี้
 
แต่ระหว่างนายเกษม อธิบายรายละเอียดการดำเนินโครงการอยู่นั้น นายกรัฐมนตรีได้เอ่ยเพื่อสอบถาม แต่นายเกษมยังคงพูดต่อไป โดยไม่ได้ยินเสียงของนายกฯ ทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ช่วยกดไมโครโฟนเรียกนายเกษมว่า “เกษม เกษม หยุดก่อน เสม หยุดก่อน” แต่นายเกษม พูดต่อไปจนรายงานจบ จากนั้น นายเกษม กล่าวหลังไมค์กับคนข้างๆ โดยไม่ได้สังเกตว่าลืมปิดไมค์ ว่า “ของเราดีกว่าเพื่อนเลย” จึงทำให้นายกฯและผู้ร่วมประชุมหัวเราะฮาเสียงดังลั่นห้องประชุม

ด้านนายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ กล่าวว่า
 
การระบุว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะมากหรือน้อยกว่าที่ผ่านมาได้นั้น ต้องรอดูช่วงปลายเดือนก.ค. ทั้งนี้ ตนขอเสนอแนวคิดว่าการเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลร้อยละ 5 สุดท้ายที่เราไม่กล้าใช้ เพราะถ้าล้นแล้วจะเปิดประตูน้ำไม่ได้ จึงอยากให้มีการปรับเพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางน้ำล้น(สปิลเวย์) ซึ่งใช้เงินน้อยมาก แต่สามารถนำไปใช้กับเขื่อนอื่น นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวังขณะนี้คือ 1.เขื่อนสิริกิติ์ที่มีน้ำค่อนข้างมาก โดย 2 วันที่ผ่านมา กฟผ.ระบายน้ำ 32 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แต่ปรับให้เหลือ 17 ล้านลบ.ม. เพื่อให้แม่น้ำยมระบายมายังแม่น้ำน่านได้สำเร็จ ทำให้แม่น้ำยมและน่านเริ่มทรงตัว

2.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งตนรู้สึกหนักใจที่สุด เพราะเวลาไหลเข้าก็มาจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ถ้าช่วงที่ปริมาณน้ำสูงมากก็จะสูงถึง 122% และขณะนี้บริเวณเหนือเขื่อนดังกล่าวน่าจะมีฝนมาก อีกทั้ง ตนมีข้อเสนอแนะว่าในวันที่ 15-17 มิ.ย.นี้ ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักที่ภาคอีสาน ภาคเหนือที่แแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน รวมถึงภาคใต้ ที่จ.นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ส่วนการคาดการณ์ระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือกับกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือและกรมอุตุนิยมวิทยา


นายกฯถก10ผวจ.แก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่พอใจบางคนทำงานช้า

ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้คณะทำงานด้านการระบายน้ำ และนายปลอดประสพ ไปหารือในรายละเอียด
 
และนำไปใช้ในการประชุมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ที่กำลังจะมีขึ้นด้วย เพื่อให้มีการป้องกัน และขอให้นายรอยล และนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ไปช่วยดูแลโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ในการพัฒนาให้มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำ

ส่วนโครงการเร่งด่วนนั้น ขอให้ทุกจังหวัดปรับสัญญาจากกำหนดการทำเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ มาให้เป็นเสร็จก่อนเดือน ก.ค.นี้

ขณะที่การปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)รับดำเนินการสร้างฝาย ขอให้ผวจ.10 จังหวัด ประชุมบูรณาการปลูกป่าร่วมกับกองทัพ กปร. และกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดพื้นที่ ลงแผน และกำหนดการปฏิบัติงานจริง รวมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริในการมาปลูกป่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับป่า และต้องไม่เน้นการแจกกล้าไม้ให้ไปปลูกเอง

นายกรัฐมนตรี ยังกำชับว่าผวจ.ทั้งหมดต้องแจ้งข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการต่างๆ มาที่เว็บไซต์ติดตามแผนการป้องกันอุทกภัยของรัฐบาลเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ตนห่วงใยการไล่ดูน้ำตั้งแต่ต้นน้ำหมด เพราะพบว่าบางช่วงของแม่น้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่ยังคงไม่ต่อเนื่อง เพื่อจะได้ระบายน้ำอย่างเต็มที่  รวมทั้งเรื่องแผนเตือนภัย ขอให้บริเวณที่ใกล้น้ำต้องซ้อมอย่างจริงจังในการสื่อสารเพราะกลุ่มตรงนี้มีความเสี่ยง และต้องสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นเพราะประชาชนไม่มั่นใจในระดับน้ำในคลองและในเขื่อน ขอให้ผวจ.ลงไปเตรียมตัวทำการเตือนภัยร่วมมือกับท้องถิ่น และกทม.ด้วย ที่อาจเตรียมไม่เหมือนที่จังหวัดอื่นจึงขอฝากนายยงยุทธช่วยประสานด้วย


ขณะที่นายปลอดประสพ  สุรัสวดี  รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) กล่าวว่า
 
ขอเสนอแผนการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมระยะสั้น 4 ข้อ คือ ดูแลพื้นที่ป่าไม้เหนืออ่างเก็บน้ำให้มีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้มากขึ้น  โดยการแปรสภาพป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังที่มีอยู่ 5 ล้านไร่  ให้เป็นป่าดิบแล้งในการเพิ่มเรือนไม้เรือนยอด ชั้นที่ 1 และ 2 อีกทั้งสร้างระบบเชื่อมต่อให้เป็นพวงคลองหนองบึงในรูปแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ , สร้างแก้มลิงในพื้นที่ราบภาคเหนือตอนล่างในลักษณะเซลล์วางเป็นรูปก้างปลาทั้งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม และต้องมีประตูควบคุมน้ำทั้งเข้าและออก 

โดยกำหนดหน้าที่ให้ควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านให้พอเหมาะกับเส้นทางระบายน้ำ ส่วนแผนระยะยาว 4 ข้อ คือ
 
ให้สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่สูงเพื่อตัดยอดน้ำ , สร้างฝ่ายในลำน้ำยมตามภูมิประเทศเพื่อการชลประทาน , สร้างระบบการผันน้ำในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเป็นรูปแบบกริด ลูกผสมระหว่างการระบายน้ำและการชลประทาน และเขื่อนกั้นน้ำรอบเมืองสำคัญ จะทำให้เกิดความปลอดภัย

ด้านนายยงยุทธ กล่าวว่า การประเมินผลผู้ว่าฯที่จะส่งผลต่อการโยกย้ายอยู่ที่ PMOC กับความเป็นจริง ซึ่งโครงการในพื้นที่ต้นน้ำจะต้องเสร็จภายในเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ยังรวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินการต่างๆด้วย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์