นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จะเข้ามานั่งรมว.อุตสาหกรรม แทน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์
ขณะที่นายสนธยา คุณปลื้ม จะแตะมือกับภรรยา นางสุกุมล คุณปลื้ม ไปเสียบแทนที่เก้าอี้รมว.วัฒนธรรม
ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา นายธีระ วงศ์สมุทร ยกมือขอเปลี่ยนตัว อ้างสุขภาพไม่เอื้อ หลังถูกกดดันหนักจากปัญหาน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา
โดยมีชื่อ ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตปลัดฯเกษตรฯ ที่แนบแน่นกับพรรค เข้ามาทำหน้าที่แทน และอาจต้องขยับเก้าอี้ของพรรคเพื่อไทยด้วย
เพราะจะโยกสลับนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ กับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯแนวโน้มการสลับเก้าอี้ 2 ตัวนี้ เป็นไปได้สูง
เพราะเท่ากับพรรคชาติไทยจะได้คุมกระทรวงเกษตรฯ แบบเบ็ดเสร็จ
พรรคชาติไทยฝากความหวังในการสร้างชื่อกับกระทรวงนี้มาแต่ไหนแต่ไร เหตุผลหนึ่งคือเรื่องพื้นที่ ฐานเสียงหลักของ
พรรคชาติไทยพัฒนาคือภาคกลาง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือเกษตรกร
พรรคเพื่อไทยเองก็จะเหมาเรียบเก้าอี้รมว.และรมช.พาณิชย์ ต้องถือว่าเข้าทางพอดิบพอดี
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปีที่ผ่านมา ประเทศต้องเผชิญปัญหาเรื่องราคาสินค้า หากรัฐมนตรีพาณิชย์มาจากสังกัดเดียวกัน การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ย่อมเป็นเอกภาพได้ดีกว่า
ขณะที่ การปรับครม.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ข่าวที่ออกมายังไปคนละทิศละทาง
ท่ามกลางกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการผลักดันพ.ร.บ.ปรองดอง ล่อแหลม สุ่มเสี่ยงจะการบานปลายไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
นายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำบางส่วน จึงเห็นว่าควรชะลอการปรับครม. ในส่วนของพรรคเพื่อไทยออกไปก่อน
เพราะหวั่นแรงกระเพื่อมในพรรคจะมาซ้ำเติมสถานการณ์การเมือง
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความพร้อม และได้พูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้เดินหน้าปรับไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดไปอีกทาง
การหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นว่าจะชะลอปรับครม.′ปู 3′ ไปหลังการปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ซึ่งอาจเป็นเดือนกรกฎาคม
โดยรัฐบาลจะเสนอปิดสมัยประชุม ซึ่งคาดจะปิดได้วันที่ 19 มิ.ย. นี้ เพื่อหวังให้อุณหภูมิการเมืองลดระดับลง จากนั้นค่อยทำคลอดรัฐมนตรีในโควตาพรรคร่วมและพรรคเพื่อไทย ไปในคราวเดียวกัน
แนวคิดการปิดประชุม เป็นผลจากการหารือระหว่างพรรคร่วมที่ต้องการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจะเดินหน้าทำงานแล้ว โดยจะเลื่อนการโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุติการผลักดันเรื่องพ.ร.บ.ปรองดอง ไว้ก่อน
สำหรับการปรับครม. หลังปิดสมัยประชุม จะเป็นการปรับขนาดกลางประมาณ 10 เก้าอี้ นอกจากสับเปลี่ยนเก้าอี้ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยจะมีสมาชิกบ้าน 111 ประมาณ 4-5 คน ได้กลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี
ที่มีรายชื่อร่วมเป็นแคนดิเดต คือ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นายวราเทพ รัตนากร นายโภคิน พลกุล พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์
นอนมาระดับต้นๆ ยกให้นายจาตุรนต์ ที่ติดโผทุกรอบ เพราะช่วงติดบ่วงคำสั่งศาลมีผลงานปรากฎต่อสาธารณะต่อเนื่อง
ยังมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ อีกคน ที่ว่ากันว่าโอกาสนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมีสูง แต่ต้องลุ้นว่าบุญมีแต่กรรมบังหรือเปล่า
น่าสนใจกับข่าวเก้าอี้รมว.กลาโหม ที่ข่าวระบุ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อาจตกเก้าอี้ โดยมีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ นั่งถ่างขาควบ
โอกาสที่นายกฯ จะนั่งควบเก้าอี้ตัวนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
พล.อ.อ.สุกำพล เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไว้เนื้อเชื่อใจ ในด้านการทำงานกับทหารที่ผ่านมาถือว่าราบรื่น ไม่มีปัญหา
จะมีปัญหาก็ตรงที่ไม่มีฐานส.ส.อยู่ในมือ
ที่สำคัญกว่านั้นต่อกระแสข่าวนี้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หัวเราะเมื่อถูกถาม
ขณะที่หลายคนเกิดคำถามในหัวทันทีหากนายกฯ ควบเก้าอี้ตัวนี้เอง ว่าทหารจะตีความกันไปในมุมไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้-ผลเสีย ให้ดีทีเดียว
ขณะที่ชื่อของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ถูกกดดันอย่างหนักตั้งแต่ก่อนบ้าน 111 พ้นโทษ ยิ่งมาเจอ"พิษอัลไพน์"ยิ่งทำให้ทำให้เจ้าตัวเครียดแบบสุด ๆ หลัง ป.ป.ช. ฟันฉับ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แปลงที่ดินวัดเป็นสนามกอล์ฟ
จนเป็นที่คาดหมายว่า ยงยุทธ อาจต้องไปก่อนใคร
แต่หากเลื่อนไปปรับเดือนกรกฎาคมจริง ยังพอมีเวลาให้แต่ละกลุ่มออกมาวัดพลังต่อรอง จึงยังไม่แน่ไม่นอน
โผรัฐมนตรีที่เห็นๆ กันอยู่จึงยังไม่สะเด็ดน้ำ
แต่ที่หลายเสียงน่าจะออกมาสนับสนุนคือการเสนอปิดประชุม เลื่อนโหวตวาระ 3 ชะลอดันร่างพ.ร.บ.ปรองดอง โดยเฉพาะกลุ่มสันติ กลุ่มปรองดรองทั้งหลาย
การปรับครม.′ปู 3′ หลังปิดสมัยประชุม จึงน่าจะชอบธรรมมากกว่าจะปรับกันแบบคลุกฝุ่นในตอนนี้