สภาแถลงชนศาลยันไม่มีอำนาจรั้งแก้รธน.


วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา แถลงว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือที่ ศร 006/440 เรื่องแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญลงวันที่ 1 มิ.ย. มีคำสั่งมายังเลขาธิการสภาฯให้แจ้งประธานรัฐสภาให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น ตนในฐานะเลขาธิการรัฐสภาได้นำความกราบเรียนต่อประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยมีความเห็นของคณะกรรมาการประสานงานฯเสนอไปด้วย 6 ข้อดังนี้
 
1. มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่าสงรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลจึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นผลให้การที่รัฐสภาจะผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดขององค์กรใดจะต้องมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผูกพันหรือปฏิบัติตาม

2. มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภาโดยคำวินิจฉัยนั้นต้องทำโดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คนซึ่งผู้เป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนตนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ปรากฏว่ามีลักษณะตามที่มาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญกำหนดจึงไม่เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญอันมีผลผูกพันรัฐสภานายพิทูร กล่าวอีกว่า
 
3. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้แบบหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐานหรือบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ประกอบมาตรา 213 วรรค 1 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยพ.ศ.2550 ข้อ 6 อันเป็นการใช้อำนาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว แต่รัฐสภามิใช้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ รัฐสภาจึงไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

4. มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาและการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตา 122 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของปวงชนชาวไทย

5. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งต่อเลขาธิการสภาฯให้แจ้งประธานรัฐสภาให้รอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนมิใช่เป็นการออกคำสั่งต่อประธานรัฐสภาหรือรัฐสภา และ
 
6. การดำเนินการโดยประการใดของประธานรัฐสภา และรัฐสภาในเรื่องนี้อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตของฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อถามว่าท่าทีของคณะกรรมฯแสดงว่ารัฐสภาสามารถโหวตรัฐธรรมนูญในวาระ3 ได้ นายพิทูร กล่าวว่าเป็นเพียงความเห็นให้ประธานสภาฯ ประกอบการใช้ดุลพินิจ และการตัดสินใจถือเป็นหน้าที่ของประธานสภาฯจะใช้ดุลพินิจ ทั้งนี้คณะกรรมการชุดนี้มีมาตั้งแต่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ และทุกเรื่องที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติก็จะมาคุยกันก่อนเสนอต่อประธานสภาฯ และการพิจารณาเรื่องนี้ก็เป็นไปตามกรอบของกฎหมายเพราะกรรมการทุกท่านมาจากฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ทั้งนี้เราไม่ได้ดูถึงการตีความของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่เราพิจารณาเพียงว่าศาลมีคำสั่งให้เราทำอย่างไร หรือไม่ดำเนินการอะไรและมีผลผูกพัน และผลต่อความคิดเห็นอย่างไร เราไม่ได้พิจารณาว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร ก็ถือว่าศาลสั่งแล้วก็คงจะชอบ แต่คณะกรรมการฯได้มองว่า คำสั่งของศาลนั้นไม่ผูกพันรัฐสภา

“ผมประชุมคณะกรรมการฯครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 1มิ.ย.ได้รับคำสั่งจากศาลและนำความกราบเรียนไปแล้ว และท่านก็รับทราบก็พยายามหาข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่ามีประเด็นอื่นๆหรือไม่ประกอบการใช้ดุลพินิจ ดังนั้นหากมีการลงมติในวาระ 3 ก็จะเข้ากระบวนการตามรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนผู้ที่ลงมติจะมีผลกระทบหรือไม่หากเชื่อตามที่เราเสนอไป ก็แสดงว่ามีความมั่นใจ เพราะเราก็สุจริตไม่มีฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ความผูกพันก็แบ่งส่วนกันไป ใครก็คิดเห็นอย่างไรก็ไม่เป็นไรเพราะกรรมการก็มีความรักชาติบ้านเมืองเช่นกัน”นายพิทูรกล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์