“ธิดา” ลั่น เดินหน้าล่าชื่อถอดถอน ตุลาการ รธน.

“ธิดา” ลั่น เดินหน้าล่าชื่อถอดถอน ตุลาการ รธน.

วันที่ 4 มิ.ย. นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติการนี้ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ การรับเรื่องร้องเรียนนี้ไว้พิจารณา เพื่อยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น มีปัญหาต้องพิจารณาได้หลายประการ ประการแรกเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ ประการที่สองเป็นการทำตัวเหนือกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ส่วนที่ 13 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ห้ามมิให้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือให้ได้มาที่อำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ปัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิได้


นางธิดา ระบุอีกว่า ดังนั้น นปช. ในฐานะองค์กรประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมมีความเห็นว่า

 การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง และ  ครม. ล้วนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวงเล็บ 1-7  แสดงว่ารัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้มีการแก้ไข เพิ่มเติมได้ ไม่มีเหตุใดที่จะอ้างรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อหยุดยั้งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการมอบอำนาจของประชาชน ตรงข้ามคณะตุลาศาลรัฐธรรมนูญมาจากการคัดสรรของคณะบุคคลและวุฒิสภาที่ครึ่งหนึ่งมาจากการคัดสรรแต่งตั้ง เป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย ถ้าเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าคณะบุคคลในนามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเกินอำนาจหน้าที่  และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  และการออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจไว้ แต่ไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มาใช้  ซึ่งการเอากฎหมายศักดิ์ต่ำกว่ามาใช้ก็เป็นเรื่องที่ตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาใช้หลายครั้งแล้ว

  
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจกระทำการในการตรวจสอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีอำนาจสั่งการให้ฝ่ายนิติบัญญัติยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญ แล้วยังล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญจึงสมควรอย่างยิ่งที่ประชาชนจะเข้าชื่อขอถอดถอนตามบทบัญญัติ มาตรา 270 ขอให้รัฐสภายืนหยัดในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ” นางธิดาระบุ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์