ที่โรงแรมอมารี เอเทรียม เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 มิ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงว่า ท่ามกลางข่าวลือกองทัพจะก่อการรัฐประหารนั้น ขณะนี้ไม่จำเป็น เพราะจริงๆ แล้วเกิดการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัฒน์แล้ว โดยเป็นการเล่นกลทางภาษาไทยอย่างพิสดารมาหักล้างหลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นใครที่คิดต่อต้านควรกระทำได้แล้ว ที่พูดเช่นนี้เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเกิดการรวมตัวของกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองเป้าหมายล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงกติกาบ้านเมืองหรือข้อบังคับใดๆ ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือกันของฝ่าย
ตุลาการเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพียงแต่ครั้งนี้จะมีผลกระทบมากกว่า เพราะตุลาการภิวัฒน์จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหารัฐธรรมนูญ สกัดกั้นประชาชนที่จะเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านกลไกรัฐสภาในอนาคต ปิดช่องทางทางสังคมที่จะแก้ไขปัญหาความแตกแยกโดยกระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไต่สวน และมีคำสั่งชะลอเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เสียเอง ทั้งเรื่องขั้นตอนที่ให้อัยการสูงสุดต้องส่งคำร้อง และเรื่องของการรองรับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการออกข้อกฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจแม้แต่วินิจฉัย เว้นแต่กรณีที่เป็นพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเท่ากับเป็นการยึดอำนาจไปจากประชาชน
“ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ล้มกระบวนการเช่นนี้ เท่ากับผลักประเทศเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ล่อแหลมสู่การเผชิญหน้า ผมเสนอว่าวิธีการคัดค้านเฉพาะหน้าสิ่งแรก รัฐสภาต้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น ดังนั้นต้องเดินหน้าเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติในวาระ 3 และ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรวมถึงองค์กรที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ส่งคำชี้แจง ควรปฏิเสธคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญด้วย และผมเห็นด้วยที่ประชาชนจะเข้าชื่อยื่นถอดถอนตุลาการ เนื่องจากกระทำการขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง” นายจาตุรนต์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากในกรณีที่ประธานรัฐสภาเรียกประชุมลงมติวาระ 3 แต่ ส.ส.กลัวความผิด ไม่กล้าเข้าประชุมลงมติ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ส.บางคนเกิดความกลัวอำนาจศาล แต่ที่ทำอยู่นี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจลงโทษใคร แต่ถ้าสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างประชาธิปไตย และลงโทษสั่งยุบพรรค ถ้าทำอย่างนั้นก็ไปกันใหญ่ แสดงว่าเราอยู่ภายใต้ความกลัวของอำนาจที่มิชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้รับสิทธิทางการเมืองคืนแล้ว จะร่วมลงชื่อถอดถอนด้วยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการมายุยง ส่งเสริมและปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ไปดำเนินการใช้สิทธิ ส่วนตัวจะลงชื่อด้วยหรือไม่ขอดูก่อน เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปบิดเบือน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความพยายามที่จะยึดอำนาจของประชาชนจากชนชั้นกลาง เพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจในมือของตัวเองซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศเอาไว้ แสดงให้เห็นถึงความไม่พยายามปรองดองและเป็นความเห็นแก่ตัวของกลุ่มคนเหล่านี้