เปิดใจ บิ๊กบัง วันปรองดองที่ไม่ปรองดอง

สัมภาษณ์พิเศษโดย สิริญญา นิมะกุล, เบญจวรรณ คงกิจเจริญกุล (ที่มา:มติชนรายวัน ศุกร์ที่1 มิ.ย.2555)



เหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....." เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555

กลายเป็นรอยด่างในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้ริเริ่มผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" เข้าสู่กระบวนการ "สภา" ได้เฝ้ามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ตั้งแต่เริ่มต้น จนเกิดความวุ่นวาย มีการปะทะกันของ "ส.ส." ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีการกระทบกระทั่งไปถึง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" จนท้ายที่สุด "ประธานที่ประชุม" ต้องสั่งปิดประชุม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

"พล.อ.สนธิ" เปิดใจกับ "มติชน" ในระหว่างที่สถานการณ์ภายในห้องประชุมสภายังคงขัดแย้งถึงปมปัญหาที่หลายฝ่ายมองว่า "เขา" คือ "ต้นตอ" ของความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน "สภา" วันนั้น

- มีผู้มองว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ พล.อ.สนธิผลักดัน เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสภา

อย่าไปดูที่ว่าปัญหามันเกิดจาก พ.ร.บ.เสมอไปสิ การกระทำลักษณะนี้ (ความวุ่นวายในสภา) เนี่ย ปกติแล้วเกิดขึ้นได้ยาก การที่จะเกิดขึ้นแบบนี้มันเป็นเรื่องของมารยาทต่างๆ ของ ส.ส.ด้วย จริงๆ แล้วเรื่องการออก พ.ร.บ.ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง มันก็เป็นธรรมดาตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่ถูกใจก็ต้องไปดูกันในสภาว่าในสภาเห็นด้วยไหม ก็ต้องว่ากันในสภา ไม่ใช่เอาความเห็นส่วนตัวมาบอกว่าเรื่องนี้ถูก เรื่องนั้นไม่ถูก มันต้องพูดกันในภาพรวม ในสภามักจะพูดว่าเสียงข้างมากลากไป เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงความเป็นจริงในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ อย่างในหลายๆ ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ในสภาแทบจะไม่มีเสียงข้างน้อยเลย แต่ประเทศมันก็เดินไปได้ บางประเทศมีความก้ำกึ่งกันก็วัดกันด้วยคะแนนเสียง ส.ส. ทุกคนมาจากประชาชนด้วยกัน แต่มันมากกว่ากันคือมีคนสนับสนุนมากกว่ากันเท่านั้น

"คำว่าพวกมากลากไปที่พูดกันอยู่เนี่ยจริงๆ แล้วเหมือนเป็นกฎของระบอบประชาธิปไตย แต่ในเรื่องของปัญหาคือเราต้องยอมรับการตัดสินของคนส่วนใหญ่ ถ้าจะไปเอาเสียงข้างน้อย แล้วบอกเสียงข้างมากไม่เป็นธรรมก็ต้องทบทวนให้ดี เพราะว่าเสียงข้างน้อยมีความคิดอย่างหนึ่ง แต่คนที่สนับสนุนก็เป็นข้างน้อยอยู่วันยังค่ำ ตรงนี้เราต้องตระหนักให้ดี ถ้าไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งไม่จบ"

ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นท่านประธานก็พยายามที่จะเป็นกลางมากที่สุดแล้ว ต้องเอาเหตุกับผลมาพูดกัน รวมไปถึงเป้าหมายของการประชุมเป็นตัวกำหนด

- เชื่อมั่นว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของ พ.ร.บ.

คือในเรื่องของการปรองดองแม้กระทั่งฉบับที่ผมนำเสนอนี้มี ส.ส.ร่วมสนับสนุน 35 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคมหาชน พรรคเพื่อไทย ทั้งหมดพรรคการเมือง 5-6 พรรค เขาก็เห็นด้วย การที่เราเสนอ ไม่ใช่ว่า พล.อ.สนธิ จะเสนอแล้วก็เป็นความเห็นของเราคนเดียว อยากถามว่าถ้าเช่นนั้นท่านชุมพล ศิลปอาชา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล จะเอาด้วยหรือ ทุกอย่างผ่านการกลั่นกรองจาก 35 คนแล้ว ก็คิดดูแล้วกันว่าคนเหล่านี้เขาเป็นผู้แทนของคนอีกเท่าไหร่

เปิดใจ บิ๊กบัง วันปรองดองที่ไม่ปรองดอง

- ที่มาของร่างฉบับนี้มาจากอะไร

จริงๆ แล้ว (หัวเราะ) เราไม่ได้เป็นนักกฎหมาย เราก็มีนักกฎหมาย แต่เราก็มีวัตถุประสงค์ มีเป้าหมายว่าต้องการอะไร ปัญหาของชาติเกิดอะไรขึ้น เราหันกลับไปมองเรื่องที่เราไปทำการวิจัยมาประกอบในการที่จะสร้างความปรองดอง เราก็เอามาคุยกัน ทุกพรรคก็มีความเห็นตรงกันว่า เนื้อหาที่นักกฎหมายช่วยร่างมา เราโอเคไหม ถ้าโอเคก็เอา ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย จะถามละเอียดในนั้น ผมก็คงไม่รู้ทั้งหมด

- อีกฝ่ายเป็นห่วงเนื้อหาในมาตรา 4 และมาตรา 5 ว่าจะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะคดีเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท

คดีแพ่งไม่เกี่ยว เรากำลังพูดถึงการอภัยโทษกับการนิรโทษกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผมอาจจะตอบไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย แต่เราต้องการอภัยโทษให้กับคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548-2554 เพื่อให้สังคมไทยที่เกิดความขัดแย้งของคนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่ส่วนน้อยๆ ดังนั้น คนพวกนี้เนี่ย คนคนหนึ่งกำลังมีปัญหาอยู่กับคดีความ ครอบครัว ญาติพี่น้อง ด้วยความที่เขามีความรักชาติ คนที่ไปปิดสนามบินเขาก็รักชาติ คนที่ปิดสภา ปิดทำเนียบก็รักชาติ ฉะนั้นวิธีคิดถึงความรักชาติในแบบประชาธิปไตยเขาก็มีวิธีคิดแบบเขา ฐานความรู้ของคนไม่เหมือนกัน เราต้องให้อภัยเขา เพราะเขาคือคนไทยคนหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินเรื่องทองอะไรเลย เมื่อวาน (30 พฤษภาคม) ท่านสามารถ (แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย) ได้พูดแล้ว นั่นคือความถูกต้องที่ตรงกัน เราไม่ได้นิรโทษ ไม่ได้พูดถึงเรื่องทักษิณ ซึ่งท่านมีคดีก็ต้องรับคดี เงินท่านถูกยึดก็ต้องถูกยึดเราจะไปแตะต้องเงินไม่ได้ เงินมันคืนไม่ได้ เพราะเงินนี่มันไปแล้ว (เสียงดัง) จะคืนได้หรือไม่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายตัวนี้เลย

- ในร่างระบุว่าให้ยกเลิกผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

ข้อเท็จจริงคือ คตส.ถูกยกเลิก ใช่ แต่ไม่ใช่ยกเลิกคดีที่ถูกตัดสินไปนะ คดียังอยู่แต่ คตส.ยกเลิกไป คดีทั้งหมดจากนี้ต้องเอาไปขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้ที่โดนการตัดสินเขาบอกว่าไม่ยุติธรรมก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อให้เกิดความปรองดอง ก็ย้ายไปอีกหน่วยงานหนึ่งที่พวกเขายอมรับ

"คำถามที่เขาติดใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ผมตอบได้คำเดียวว่าไม่ใช่"

- กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมาประกาศระดมพลชุมนุม เพื่อต่อต้านกฎหมายปรองดอง ของ พล.อ.สนธิด้วย

อันนี้เป็นปลายเหตุ เราต้องหาต้นเหตุ ว่าวันนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทุกคนกำลังคิดอะไรอยู่ อยากให้ทุกคนไปเฟ้นหาว่าอะไรเป็นที่มาที่ไปว่าเกิดจากอะไร ทุกคนกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้ เมื่อออกมาแล้วจะช่วยทักษิณ ทำให้ทักษิณ ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นมูลเหตุที่สำคัญที่เขาออกมากัน แต่กฎหมายนี้ไม่ได้พูดถึงคนใดคนหนึ่งเลย เพราะเราจะช่วยคนที่มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2548-2554 เราจะช่วยคนพวกนี้เป็นหลัก

"คือเราไม่ได้มองที่ตัวท่านทักษิณ แน่นอน 91 ศพ ทหาร ประชาชน ที่มีคดีความติดตัว ทุกคนได้รับปัญหาหมด ทุกอย่าง พวกนี้จะโยงกันหมด เราแค่อยากเห็นประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย วันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผมทำน่ะ (ยึดอำนาจ) เพราะว่าไม่อยากเห็นคนฆ่ากัน เราต้องการให้สังคมอยู่ต่อไปได้ บ้านเราพอวันที่ 20 กันยายน 2549 ทุกคนก็มีความสุข วันนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากมายมหาศาล จะปล่อยไปอย่างนี้หรือ หากไม่มีร่างตัวนี้ ความขัดแย้งก็ยังเกิดอยู่ดี ลองดูซิว่าถ้าร่าง ออกมาแล้วหลายคนได้หายทุกข์ หลายคนให้อภัยต่อกัน ถามว่าสังคมจะเป็นอย่างไร มันก็ต้องดีกว่านี้"

- ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ พล.อ.สนธิ ก็ถูกคนเสื้อแดง บางกลุ่มมองว่าการให้ลืมอดีตมันก็เจ็บปวดสำหรับผู้สูญเสีย

มันมีคนได้และมีคนเสีย ในต่างประเทศเคยมีกรณีที่พ่อเขาถูกฆ่าตาย แต่เขาต้องการให้บ้านเมืองสงบ น้ำตาเขาก็ต้องตกข้างใน แต่เขาก็เห็นว่าประเทศของเขาต้องสงบ วันนี้นักการเมืองทุกคนต้องหันกลับมาคิดเรื่องนี้ การให้อภัยคือการนำไปสู่ความปรองดอง

- ฝ่ายค้านระบุว่า พล.อ.สนธิไปหา พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนจะกลับมาเสนอกฎหมายปรองดอง

อย่างที่บอก การพูดคุยมันทำไม่ยากเลยนะ แค่ส่งโทรศัพท์มาก็คุยกันได้แล้ว ส่วนใหญ่ผมก็คุย ถามว่าสบายดีไหมเท่านี้ เรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองไม่ได้คุยกันเลย ทางพรรคเพื่อไทยหลายๆ คนไปพบผู้ใหญ่ เขาก็ส่งโทรศัพท์ให้คุยบ้าง บางทีเราก็ตกใจ แต่เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นในวงการการเมืองเยอะมาก

- ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.สนธิกับพ.ต.ท.ทักษิณ คืออะไร

เขาเป็นน้อง แต่ถามว่ารักกันเหมือนเดิมไหม ไม่รู้ แต่เราคือผู้ที่ทำให้เขาเจ็บปวด ทำให้เขาไม่สบายใจ ถามว่าเขาเจ็บปวด โกรธเราไหม ตอบไม่ได้ แต่ถามว่าเราล่ะ

จะให้ตอบอย่างไร...

- วันนี้ พล.อ.สนธิรู้สึกอย่างไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ

วันนี้คิดอย่างไรไม่รู้ แต่อยากให้การปรองดองมันเกิด

- เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับนี้จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

วันนี้มันยังมีความเจ็บปวดของคนทุกฝ่าย แต่คนที่มันเจ็บคือคนที่ยังมีปัญหาอยู่ เราก็พยายามอภัย และเยียวยาให้เขา อย่างน้อยหนักก็จะได้เป็นเบา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดอง และการให้อภัยซึ่งกันและกัน

รัฐบาลก็จะต้องส่งสัญญาณ เรื่องของการตั้งใจจริง (เสียงดัง) หรือสร้างบรรยากาศปรองดอง รัฐบาลต้องทำ!!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์