คุก8เดือน!บก.เว็บประชาไทปล่อยโพสต์หมิ่น

คุก8เดือน!บก.เว็บประชาไทปล่อยโพสต์หมิ่น

คุก8เดือน!'บก.เว็บประชาไท'ปล่อยโพสต์กระทู้หมิ่นเบื้องสูง ปี 51


30 พ.ค.55 เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1167/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร อายุ 44 ปี ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลย ในความผิดฐาน กระทำผิด พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 และ 15

โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 31 มี.ค.53 ระบุความผิดจำเลย สรุปว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. - 3 พ.ย.51 ต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแล (Web master) เว็บไซต์ประชาไท ได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการโพสต์ข้อมูลที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 10 กระทู้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย เหตุเกิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงจอมพล เขตจตุจักร, แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรไทย เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์- จำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า ข้อความตามกระทู้ที่มีตั้งไว้บนกระดานเว็บบอร์ด เว็บประชาไท 10 กระทู้ตามฟ้อง มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร โดยมีการนำเข้าสู่เว็บบอร์ดของเว็บไซต์ประชาไท แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยจะเป็นผู้นำข้อความกระทู้ทั้ง 10 เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือจงใจ สนับสนุนให้มีการกระทำความผิดดังกล่าวในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลย กระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับเป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยจงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว

ส่วนจะเป็นการยินยอมให้มีการกระทำความผิด ตาม มาตรา 14 หรือไม่ ศาลเห็นว่า พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับระยะเวลาว่าควรมีระยะเวลานานเท่าใด ที่จะให้นับว่าเกิดการกระทำผิดที่มีการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม มาตรา 14 และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ดำเนินการแก้ไขกรณี กรณีที่มีการความข้อความที่ไม่เหมาะสมมาโพสต์เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะให้ถือว่า ผู้ดูแลเว็บไซต์ ต้องรับผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวทันที หลังจากมีการนำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสมเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตนั้นก็จะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้บริการในอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ให้บริการ จะอ้างว่าไม่ทราบมีกระทู้ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้คำนึงถึงภาระหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อให้หลุดพ้นในการรับผิดดังกล่าวและทำให้บทบัญญัติตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับนั้น ก็จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ศาลจึงเห็นว่า หากจำเลยมีความใส่ใจดูแล ตรวจสอบตามหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยแล้ว ควรจะใช้เวลาในการตรวจสอบเมื่อเห็นข้อความที่ไม่เหมาะสมควรและลบข้อความดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ในระยะเวลาอันสมควรเพราะหากปล่อยเวลาให้นานไปกว่านี้อาจมีการนำข้อความไปเผยแพร่ต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อผู้เกี่ยวข้อง เสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติได้

อีกทั้ง แม้ปรากฏว่ากระทู้ที่โพสต์ในเว็บบอร์ด จำนวน 9 กระทู้ อยู่ในกระดานสนทนาอยู่ที่จำเลยเป็นผู้ดูแลเป็นเวลา 11 วัน 1 วัน 3 วัน 2 วัน 2 วัน 1 วัน 3 วัน 2 วัน และ 1 วัน ตามลำดับ ที่อยู่ในกรอบเวลาอันสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ควบคุมเว็บบอร์ด จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ถึงการนำเข้า 9 กระทู้ดังกล่าวสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ยังปรากฏว่ามี 1 กระทู้ที่ปรากฏว่าอยู่ในกระดานสนทนาบนเว็บบอร์ดของเว็บประชาไทที่จำเลยดูแล นานถึง 20 วัน ซึ่งศาลเห็นว่าเกินกำหนดเวลาอันควร ที่จำเลยควรจะตรวจสอบและลบออกจากระบบคอมพิวเตอร์ จึงเป็นการงดเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการในเวลาอันควร จึงถือได้ว่าจำเลยให้ความยินยอมโดยปริยาย ย่อมมีความผิดฐานเป็นผู้ยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14

ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 มีคนเข้ามาตั้งกระทู้บนเว็บบอร์ดที่เว็บไซต์ประชาไทมากขึ้นถึง 20,000 - 30,000 ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นวันละ 2,800 - 3,000 ความเห็น จำเลยก็ได้เพิ่มมาตรการควบคุมดูแล โดยมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบข้อมูลและให้มีอาสาสมัคร ช่วยตรวจสอบข้อมูลที่นำเข้าสู่เว็บไซต์ และหากพบมีข้อความลักษณะที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถลบออกได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากจำเลยก่อนนั้น ศาลเห็นว่า การเพิ่มมาตรการดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งขอจำเลยในฐานะผู้ดูแลควบคุมตาม มาตรา 14 แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะภาระหน้าที่ของจำเลยในการควบคุมดูแลที่ไม่ให้มีการกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ ก็ยังต้องมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนที่ว่าเว็บไซต์ประชาไท เป็นโครงการหนึ่งภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน มีจุดประสงค์เพื่อต้องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง มุ่งเน้นในเรื่องสิทธิที่ถูกต้องในส่งเสริมประชาธิปไตยนั้น ศาลยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองซึ่งให้การรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นสะท้อนถึงธรรมาภิบาล และความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ หรือองค์กรนั้นๆ การวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั้งด้านบวกและด้านลบย่อมเป็นโอกาสในการนำไปปรับปรุงประเทศ องค์กรและตัวเองให้ดียิ่งขึ้น แต่เมื่อจำเลยเปิดช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อคิดเห็น หรือข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือน ถึงความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่ต้องเคารพเช่นกัน เมื่อจำเลยกระทำผิดตามที่วินิจฉัยมาข้างต้นจำเลยจึงมิอาจอ้างซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิดได้ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า จำเลยยินยอมให้มีการนำข้อมูล ความเห็นที่เป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ แล้ว จำเลยจึงไม่สามารถอ้างถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดได้

ดังนั้น พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ 15 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้างลดโทษให้ 1ใน 3 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลย ได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานในการอ่านคำพิพาษาวันนี้ มีกลุ่มมวลชนเสื้อแดงและผู้ที่เรียกร้องแก้กฎหมายมาตรา 112 คดีอากง จำนวนหนึ่งมาร่วมรับฟังฟังคำพิพากษาด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศและ กลุ่มเอ็นจีโอ จำนวนมาก ให้ความสนใจเดินทางมาติดตามข่าว ซึ่งบางส่วนก็มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.จีรนุช

ภายหลัง น.ส. จีรนุช กล่าวว่า คำพิพากษาในครั้งนี้ไม่ได้เกินความคาดหมายที่คิดไว้ ที่ศาลอ่านมามี 10 กระทู้ แต่มีเพียง 1 กระทู้ที่ตนผิด โดยส่วนตัวแล้วตนพอใจถึงคำอธิบายในรายละเอียดที่ศาลอ่านคำพิพากษา แต่ตนก็ยังไม่พอใจในความผิด 1 กระทงที่ศาลตัดสินว่าผิดในฐานะผู้ให้บริการต้องดูแลรับผิดชอบแต่เรามองว่าไม่ผิด ซึ่งทางสากลประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ ถึงบทบาทของผู้ให้บริการที่ต้องทำหน้าที่ตำรวจตรวจตราเนื้อหา ถูกต้องชอบธรรมแค่ไหน

“ในคำพิพากษาเอง ศาลก็ให้เหตุผลถึง พรบ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา15 ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการที่ผู้ให้บริการตรวจสอบข้อความที่ไม่เหมาะสมในเว็บไซต์ เรามองว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ควรจะมีการแก้ไขไม่ควรมีการผนวกรวมการควบคุมเนื้อหาไว้ เนื่องจากส่วนของเนื้อหามีกฎหมายอาญาอยู่รองรับอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของคดีก็จะปรึกษากับทางทีมทนายความก่อนว่าจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อหรือไม่” น.ส.จีรนุช ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้อาจถูกมองว่ากลายเป็นคดีตัวอย่างของผู้ให้บริการเว็บไซด์อื่นด้วยหรือไม่ น.ส.จีรนุช กล่าวว่า คงจะไม่เกี่ยวกันเพราะถ้าในคดีมีช่องทางการต่อสู้ก็สามารถต่อสู้คดีได้ ต้องดูในรายละเอียดอีกที แต่ในส่วนของเว็บบอร์ดที่ใช้พูดคุยของประชาไทปิดไป 2 ปีแล้ว ซึ่งคงคิดหนักว่าจะกลับมาเปิดอีกหรือไม่


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์