“มาร์ค” ยันให้ “ศาล รธน.” ชี้ขาดร่าง รธน. เหมาะที่สุด

“มาร์ค” ยันให้ “ศาล รธน.” ชี้ขาดร่าง รธน. เหมาะที่สุด

วันที่ 10 พ.ค. ที่รัฐสภา การประชุมร่วมรัฐสภาในช่วงบ่าย

โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/13 ว่า ได้เสนอคำแปรญัตติมาตรานี้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1. เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วควรให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 291/11วรรคห้าหรือไม่ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม กรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญในมาตรา 291/11 น่าจะไม่เพียงพอเพราะประเด็นที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงล้วนแต่มีความละเอียดอ่อน และนำไปสู่ความขัดแย้งได้ทั้งสิ้น การตรวจสอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่เป็นกระบวนการสำคัญ โดยเจตนารมณ์ของการเมืองปัจจุบันหน้าที่ในการวินิจฉัยน่าจะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญมากกว่าอำนาจประธานรัฐสภาและที่ประชุมรัฐสภา เป็นผู้พิจารณา เท่ากับเป็นการใช้ดุลพินิจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การจัดทำรัฐธรรมนูญยังเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมากในสภา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า 2. เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จให้นำกลับมาให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็น
 
โดยการพิจารณาที่ประชุมจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้ แต่แก้ไขไม่ได้ การดำเนินการเช่นนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้ ส.ส.ร.มาชี้แจงได้ การนำเอาร่างรัฐธรรมนูญกลับเข้ามาในสภาโดยให้เป็นโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนได้มีโอกาสพูดให้ประชาชนได้รับทราบว่าสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไรเป็นกระบวนการที่เหมาะสม จากนั้นจึงให้นำไปให้ประชาชนลงประชามติ หากเป็นเช่นนี้ก็พอรับได้ และ 3.การทำประชามติ ที่กำหนดให้ทำ 45-60วันนับจาก กกต. รับร่างจากประธานรัฐสภานั้นเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็น 90 วัน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสกลั่นกรองเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ก่อนส่งให้ กกต.ไปทำประชามติ

ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ. พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.
 
ได้ออกแบบกระบวนการแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งก่อนจะให้ประชาชนลงประชามติจะให้มีกระบวนการตรวจสอบว่าการทำรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 291/11 วรรคห้าหรือไม่ โดยหากประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดต่อมาตรา 291/11 วรรคห้าก็จะให้ กกต. ทำประชามติ หากเห็นว่าขัดก็ให้นำกลับมาให้รัฐสภาพิจารณา ร่างแก้ไขที่ กมธ.ได้พิจารณามาอย่างเหมาะสมแล้วโดยให้สุดท้ายแล้วประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีกรอบเวลาในการทำประชามติที่กังวลว่าจะไม่เพียงพอต่อการทำให้ประชาชนเข้าใจถึงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ

หากย้อนกลับไปดูในมาตราอื่นจะเห็นว่าจะมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาค ในขณะนี้กระบวนการพูดคุยจะเกิดขึ้นทั่วประเทศซึ่งน่าจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ของประชาชนจะเกิดขึ้นในวงกว้างร่างที่เสนอนี้จึงน่าจะเป็นร่างที่เหมาะสม


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์