วานนี้ (6 พ.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินความพอใจของประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา และการปรับคณะรัฐมนตรีในสายตาประชาชน พบว่า ผลการประเมินความพอใจของสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง 4 ท่านที่ผลสำรวจพบว่าได้รับการสนับสนุนเกินกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือได้ไม่ถึงร้อยละ 50
ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 บอกว่ามันเป็นเรื่องจริงไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือกระแสเท่านั้น
ส่งผลทำให้รัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์และที่เกี่ยวข้องได้รับเสียงความพอใจของสาธารณชนไม่ถึงครึ่งในการสำรวจครั้งนี้ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างให้โอกาส สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และนายจตุพร เข้าเป็นรัฐมนตรีถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่
เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของรัฐมนตรีรายบุคคล พบว่านายกรัฐมนตรีมีคะแนนมาเป็นอันดับแรก จำนวนร้อยละ 64.8 ที่น่าสังเกต คือ รัฐมนตรีที่ประชาชนพึงพอใจเป็นอันดับท้าย ๆ พบว่า รมว. กระทรวงพาณิชย์ และ รมช. กระทรวงพาณิชย์ ติดอับดับหนึ่งในสิบของรัฐมนตรีที่ประชาชนมีความพึงพอใจน้อยที่สุด
และเมื่อสอบถามถึงรายชื่อคณะรัฐมนตรีรายบุคคล พบว่ายังคงมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านที่ไม่เป็นที่รู้จักในการรับรู้ของประชาชน
โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 38.1 ระบุนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 38.0 ระบุนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.กระทรวงการคลัง ร้อยละ 37.1 ระบุนายอารักษ์ ชลธารนนท์ รมว. กระทรวงพลังงาน ร้อยละ 36.3 ระบุนายภูมิ สาระผล รมช. กระทรวงพาณิชย์ และร้อยละ 35.7 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมตรี เป็นต้น
สำหรับสิ่งที่น่าพิจารณา คือ ค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของสาธารณชนต่อการทำหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรัฐมนตรี มีเพียงแค่ 6.24 คะแนน และเมื่อสอบถามต่อไปว่าราคาสินค้าที่แพงอยู่ในขณะนี้ ประชาชนคิดว่าเป็นเรื่องจริงหรือเพียงแค่ความรู้สึก พบว่าประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 90.1 ระบุว่าเป็นเรื่องจริง มีเพียงแค่ร้อยละ 9.9 คิดว่าชาวบ้านรู้สึกไปเอง
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างกว่าหนึ่งในสามหรือร้อยละ 38.2 ยังคงเห็นด้วยที่จะให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรี
ส่วนร้อยละ 36.9 ระบุไม่เห็นด้วย และร้อยละ 24.9 ไม่มีความคิดเห็น นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 49.7 ยังคงให้โอกาสนายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าเป็นรัฐมนตรี สิ่งที่น่าพิจารณา คือ ยังมีอีกไม่น้อยหรือร้อยละ 67.4 คิดว่าควรปรับคณะรัฐมนตรี และร้อยละ 32.6 คิดว่ายังไม่ควรปรับ.