แม้จะเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 หรืออดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะพ้นโทษทางการเมือง 5 ปีหลังถูกตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิ” ทางการเมืองเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 แต่กลับมีกระแสการปรับ “คณะรัฐมนตรี” ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง
“ทุกฝ่าย” คาดการณ์ตรงกันว่าห่วงเวลาในการปรับ ครม.ไม่น่าจะเกินเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ การปรับ ครม. “ยิ่งลักษณ์ 3” จะบังเกิดขึ้น ส่วนจะเป็นการ “ปรับเล็ก” หรือ “ปรับใหญ่” ผู้ที่น่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่เป็น “ศูนย์รวม” อำนาจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย อยู่ในขณะนี้ หาใช่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสูงสุดตามหลักโดยทั่วไป
การปรับ ครม.ที่เรียกว่า “ปรับเล็ก” นั้นเกิดขึ้นแน่ จากพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคพลังชล ที่ นายสนธยา คุณปลื้ม ประกาศตัวจะเข้ามา “รับไม้” ต่อจากศรีภรรยา
นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม และ พรรคชาติพัฒนา ที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จะส่ง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายอดีต ส.ส.นครราชสีมาหลายสมัยเข้ามาทำหน้าที่แทนม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม
ฉะนั้นเมื่อการ “ปรับเล็ก” ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลย่อมอาศัย “จังหวะ” นี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและเร่งสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองหลังจากถูกตั้งคำถามอย่างหนาหูถึงประสิทธิภาพและศักยาภาพในการแก้ไขปัญหา “ปากท้องของแพง” ในปัจจุบัน
จะด้วยเหตุผล “ความรู้สึก” จากปัญหามหาอุทกภัยที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อน ประกอบกับเป็นช่วง “เตรียมตัวจ่าย” ก่อนเปิดภาคเรียนการศึกษา อย่างที่นายกฯยิ่งลักษณ์ อธิบายไว้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ไม่รู้ รู้แต่ว่า ปัญหา “ปากท้องของแพง” กำลังเป็นปัญหาใหญ่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างชัดเจน
จะโทษความรู้สึกประชาชนฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั่นแหละที่ได้สร้างความหวังผ่านวลีทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกไว้ว่า “จะกระชากค่าครองชีพ” ให้ต่ำลงเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ 9 เดือน ประกอบกับการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่าน วาทกรรม “แพงทั้งแผ่นดิน” ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้รัฐบาล “ทักษิณส่วนหน้า” ต้องรีบลงมือแก้ไข
ไฟต์บังคับปรับครม. ทักษิณคิด - ยิ่งลักษณ์ทำ ของแพง - ปากท้อง ทำ ปรองดอง ต้องสะดุด
การปรับ ครม.ที่เรียกว่า “ปรับใหญ่” จึงมีความเป็นไปได้สูง เพราะมี “ปัจจัย” หลาย ๆ อย่างประกอบกัน
ประการแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทีมเศรษฐกิจที่มีต่อรัฐบาลให้เพิ่มขึ้น โดยการดึงนักการเมืองที่ถูกเรียกว่า “ทีมเอ” ของพรรคเพื่อไทยให้เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อน เพราะต้องยอมรับว่า แม้จะมีการปรับ ครม.มาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่การปรับ ครม.ดังกล่าวก็ถูกมองว่า เป็นการปรับเพื่อ “กระชับอำนาจ” มากกว่าจะเป็นการปรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าพรรคเพื่อไทยมีบุคลากรที่เป็นตัวเลือกอยู่อย่าง “จำกัด”
ประการต่อมา ผลพวงจากความพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 5 ปทุมธานี เป็น “สัญญาณ” เตือนให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตระหนักว่า
หากมัวแต่ใช้เวลาไปสร้างความ “คืบหน้า” ทางการเมืองอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง นั้นได้สร้างความผิดหวังให้กับมวลชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเชื่อในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็น “จุดขาย” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ การมัวแต่คิดจะเดินหน้าทางการเมืองอย่างเดียวสะท้อนให้เห็นแล้วว่า เป็นการก้าวที่ผิดจังหวะเพราะตราบใดก็ตามที่รัฐบาลไม่สร้างผลงานจนเป็นที่ประจักษ์ การแสวงหาความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้อย่างยิ่ง
อีกประการ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องสร้างสมดุลทางการเมืองขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยทั้งในส่วนของ ส.ส.ที่มีข่าวว่า
พ.ต.ท.ทักษิณได้สัญญาทางการเมืองไว้กับ ส.ส.ที่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคให้มีตำแหน่งทางการเมือง และในส่วนของมวลชนคนเสื้อแดง ที่นับวันจะแบ่งเป็นหลายก๊กหลายเหล่า ลำพังแค่การดึง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ มานั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องดึงแกนนำมวลชนคนสำคัญอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ให้เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้
ในหลายเวทีและในหลายโอกาส พ.ต.ท.ทักษิณ มักจะพูดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นหนี้บุญคุณและเมื่อมีโอกาสจะตอบแทนให้
แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่า การปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายใน แต่ผลจากการปรับครม.ครั้งที่ผ่านมาเป็น “บทสรุป” แล้วว่า สมบัติผลัดกันชม ย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดการผูกขาดในตำแหน่งทางการเมืองของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
อีกประการที่เป็นผลในระยะอันใกล้ คือ การดึงบุคลากรทางการเมืองให้เข้ามามีบทบาทจะเป็นแรงผลักดันทางอ้อมเพื่อสร้างกระบวนการปรองดองขึ้น
เพราะการมีบุคคลมากหน้าหลายตาที่ทั้งเป็นพันธมิตรร่วมทำงานกันมาหรือแยกตัวออกไปสร้างกลุ่มก้อนทางการเมือง ล้วนสยบยอมเท่ากับเป็นการสร้างการยอมรับจากสังคมได้ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งก็จะเป็นพลังหนุนเพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับบ้านในปีนี้อย่างเท่ ๆ
ประการที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะใช้จังหวะทางการเมืองช่วงนี้ ลดน้ำหนักการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์
แม้จะไม่สามารถ “หลบ” ได้พ้นแต่อย่างน้อย ภาพลักษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ไม่ปะทะทางการเมืองก็น่าจะช่วยลดความเข้มข้นของอารมณ์ลงได้ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะใช้จังหวะนี้ “อุดช่องโหว่” การทุจริต ซึ่งเริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ
ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องใหญ่เป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของรัฐบาล ยิ่งกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณด้วยแล้วข้อหานี้ถือเป็น “ชนัก” ทางการเมืองที่ติดตัวมาจนถึงวันนี้
ขืนปล่อยให้รัฐมนตรีในรัฐบาล “ทุจริต” จนถูกฝ่ายค้านจับได้ไล่ทัน จะยิ่งส่งผลและจะสะเทือนไปถึงการกลับบ้าน ตรงข้ามหาก พ .ต.ท.ทักษิณ ลงมือจัดการก็จะได้ความรู้สึกจากสังคมว่า ไม่ปล่อยปละให้พรรคพวกหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าเข้าพรรค
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯผู้มีบทบาทโดดเด่นด้านการปราบปรามยาเสพติดพูดไว้หลายครั้งว่า รัฐบาลนี้จะอยู่ครบเทอม ถ้าไม่มีเรื่อง “ทุจริต” เกิดขึ้น
ในหลักการ “ตลาด” สินค้าต้องใหม่ มีคุณภาพ ได้รับความเชื่อถือ ในทางการเมืองก็เฉกเช่นกัน ยิ่งกับพรรคเพื่อไทยด้วยแล้ว ใครจะรู้ดีไปกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นเห็นจะไม่มีอีกแล้ว.