เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (3 พ.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาสินค้าราคาแพง ว่า
สาเหตุมาจาก 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่เราเก็บจากข้อเท็จจริง และส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกของประชาชน อย่างไรก็ตามภาพรวมของราคาสินค้าที่ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าแพงนั้น อาจมาจากผลพวงอุทกภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้สึกว่าราคาสินค้ายังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ความจริงก็เริ่มมีการปรับตัวลดลง แต่อาจยังไม่ได้ปรับตัวลดลงในจุดที่ประชาชนพอใจ ประกอบกับช่วงเดือนเม.ย. อากาศร้อน และเป็นเดือนที่มีค่าใช้จ่ายมาก เช่น ลูกต้องเรียนหนังสือ เมื่อ 2 มุมนี้มาประกอบกันจึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าสินค้าราคาแพง
ยืนยันว่าจากที่เราเก็บข้อมูลมา ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
แต่อาจไม่ตรงกับใจของประชาชน แต่รัฐบาลก็ยืนยันที่จะเดินหน้าและทำทุกวิถีทางในการหามาตรการช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตามคงเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า หลายนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปถือเป็นมาตการช่วยเหลือเรืองค่าครองชีพของประชาชนในเบื้องต้น
เช่น ปรับขึ้นเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนระยะยาวนั้น กำลังอยู่ในช่วงปรับตัว จะเห็นว่าสินค้าหลาย ๆ อย่างยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 100 % รวมทั้งการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังเพิ่งเปิดตัวกลับมาหลังเกิดปัญหาอุทกภัย จะเปิดเต็มที่ช่วงครึ่งปีหลัง หากเปิดเต็มที่แล้ว สินค้าและการบริการต่าง ๆ จะเข้าสู่ท้องตลาดตามปกติ
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ ผู้ประกอบการปลายทาง ยังคงใช้ราคาต้นทุนเก่า
ต้องขอความกรุณาจากผู้ขายสินค้าให้ช่วยกันดูราคาให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยตนได้ย้ำกับกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วว่าจะต้องเคร่งครัดในการตรวจตรา ไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินความจำเป็น และสั่งการกระทรวงพาณิชย์ตั้งศูนย์รับข้อร้องเรียนจากประชาชน และตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
เมื่อถามว่าสินค้าต้นทางที่เป็นตัววัตถุดิบมีราคาถูก แต่เมื่อมาสู่ปลายทางที่แปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคแล้วกลับมีราคาสูง จะแก้ปัญหาอย่างไร
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าวิเคราะห์ราคาสินค้า มีทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยในส่วนของต้นทางที่เป็นวัตถุดิบนั้น สินค้าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และบางพื้นที่ก็อาจมีการปลูกมากเกินไป ทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบต่ำกว่าความเป็นจริง พอมาถึงช่วงกลางทาง ราคาน้ำมันก็อาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบ้างส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ส่วนประกอบใหญ่ทั้งหมด ซึ่งสินค้าบางส่วนรัฐบาลก็พยายามตรึงราคาไว้ โดยเฉพาะเอลพีจีในภาคครัวเรือน ส่วนสินค้าปลายทางนั้น ยังไม่ได้ปรับลดลง แต่ช่วงนี้กำลังปรับตัวค่อย ๆ ลดราคาลงไป
“ความรู้สึกของผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่าอาหารแพง แต่จริง ๆรัฐบาลก็ต้องมองทั้ง 2 ส่วน ทั้งความรู้สึกของผู้บริโภค ที่สำคัญต้องดูตัวเลขที่จับต้องได้จริงๆ เราคงจะได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจอย่างแท้จริงหลังจากที่ได้มีการแถลงในไตรมาสที่หนึ่ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท แต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น จนประชาชนไม่พอใช้จ่าย นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามใด ๆ
เมื่อถามว่าถึงเวลาที่ต้องปรับทีมเศรษฐกิจหรือยัง นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามอีก เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงกระแสข่าวปรับครม. โดยมีชื่อนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมตรี ก็ไม่ยอมตอบคำถามอีกเช่นกัน ก่อนจะเดินเข้าห้องประชุมสภาฯไปทันที