พร้อมพงศ์ยอมขอโทษ3ตลก.ศาลรธน.

พร้อมพงศ์ยอมขอโทษ3ตลก.ศาลรธน.

3 ตุลาการศาลรธน. ถอนฟ้อง "พร้อมพงศ์" ทั้งแพ่ง-อาญา กรณีปล่อยคลิปฉาวโกงข้อสอบ หลังลงขอโทษใน "มติชน" 5 วัน อ้างบ้านเมืองเดินหน้าสู่ความปรองดอง ต้องให้อภัยกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นพ้องศาลชั้นต้นตัดสิน "อุบลกาญน์ อมรสิน" หรือ ดีเจสาวสองฝั่งโขง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ให้รอลงอาญา 1 ปี 4 เดือน

เมื่อเวลา 14.00 น. 26เม.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอในเว็บไซด์ยูทูปและลงข้อความขอโทษนายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายเฉลิมพล เอกอุรุ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันเวลา 5 วัน ต่อการที่เคยกล่าวหาว่า ตุลาการฯ 3 คน เกี่ยวข้องกับการโกงข้อสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2552ว่า นายพร้อมพงศ์ได้มีการติดต่อกับทีมทนายความของ 3 ตุลาการฯ เพื่อขอโทษตั้งแต่ปลายปี 2554

รวมทั้งได้ยอมรับในชั้นการพิจารณาของศาลว่า เข้าใจผิดในข้อเท็จจริง ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ต้องการความปรองดอง ซึ่ง 3 ตุลาการฯก็เป็นผู้ใหญ่ เมื่อเห็นว่านายพร้อมพงศ์ยอมรับว่าเข้าใจผิด และได้ดำเนินการครบถ้วนตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว ก็พร้อมที่จะให้อภัย จึงจะมีการถอนฟ้องนายพร้อมพงศ์ออกจากการเป็นจำเลยในคดีอาญาและคดีแพ่ง ทั้งนี้เชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นบทเรียนให้นายพร้อมพงศ์มีความระมัดระวังในการพูดสัมภาษณ์ที่จะต้องไม่เป็นการกล่าวหาใครหรือองค์กรใดโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องเสียก่อน

นายพิมล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้คดีการกล่าวหา 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีจำเลยอีก 2 รายที่ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้มีการถอนฟ้อง ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและเชื่อว่าผลการพิจารณาจะทำให้ความจริงในเรื่องที่มีการกล่าวหาปรากฏต่อสังคมได้ ส่วนหากจำเลยอีก 2 คน ติดต่อเพื่อขอโทษ 3 ตุลาการฯจะยอมถอนฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องจำเลยแต่ละคนมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพิจารณาให้อภัยของตุลาการก็จะต่างกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตุลาการฯ

เมื่อถามว่าการถอนฟ้องครั้งนี้อาจทำให้สังคมรู้สึกว่าตอนที่ 3 ตุลาการฟ้องขณะนั้นเป็นการฟ้องแก้เกี้ยว นายพิมล กล่าวว่า ไม่ได้ฟ้องแก้เกี้ยว แต่บรรยากาศและสถานการณ์ในขณะนั้น ตุลาการฯเห็นว่าการออกมาชี้แจงอะไรจะทำให้สังคมมองว่าเป็นการแก้ตัว จึงเลือกใช้วิธีการฟ้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อใช้กระบวนการศาลฯทำให้ความจริงปรากฏ โดยคดีดังกล่าวในขณะนี้แม้จะยังไม่มีการไต่สวน แต่ในข้อเท็จจริง จำเลยก็ได้แถลงรับในศาลแล้วว่าตนเองลุแก่โทษ ซึ่งในกรณีของนาย พร้อมพงศ์
เมื่อยอมรับผิด และขณะนี้สังคมต้องการความปรองดอง ตุลาการฯก็พร้อมที่จะให้อภัย ส่วนการยอมถอนฟ้องในครั้งนี้จะนำไปสู่การร้องคัดค้านการนั่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีการเมืองที่จะมาสู่ศาลฯในอนาคตหรือไม่ คิดว่าคงต้องดูเป็นข้อเท็จจริงไป ซึ่งการจะถอนตัวจากการเป็นองค์คณะจะต้องได้รับอนุญาตจากที่ประชุมคณะตุลาการ และถ้ามีการกล่าวหาตุลาการโดยไร้ข้อเท็จจริงอีก ตุลาการฯก็สามารถใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยอีก 2 คนในคดีนี้ที่ยังไม่มีการถอนฟ้อง ก็คือ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ และบริษัทหนังสือพิมพ์มติชน จำกัด มหาชน

ศาลตัดสินรอลงอาญาดีเจสาวสองฝั่งโขง

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน หรือ ดีเจสาวสองฝั่งโขง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางมารับฟังคำพิพากษา ในคดีก่อความไม่สงบและเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม 2553 ฐานความผิดเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และ เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

คดีนี้ศาลชั้นต้น ได้ตัดสินครั้งแรก ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ให้ลงโทษนางสาวอุบลกาญจน์ฐานเป็นผู้สนับสนุน มีโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และจำเลยยินยอมเป็นเวลา 72 ชั่วโมง และห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมในลักษณะฝ่าฝืนกฏหมาย

ทั้งนี้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ ขอยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ขอไม่ให้รอการลงโทษ ต่อศาลอุทรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 5 มกราคม 2555 และในวันนี้ ศาลอุทรณ์ภาค 3 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ลงทะเบียนประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว แม้ตามขอบเขตเงื่อนไขที่ยื่นระบุว่าจะไม่ดำเนินการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ตาม แต่จำเลยกระทำผิดเพียงสนับสนุนพวกจำเลย ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุด้วยการให้ใช้เครื่องมือ และ อุปกรณ์ในการส่งสัญญาณวิทยุปลุกระดมให้ประชาชนก่อความไม่สงบ และล่วงละเมิดต่อกฏหมายทำการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี การกระทำจำเลยไม่ร้ายแรงหนัก แม้ผลที่ตามมาจะร้ายแรงดังที่โจทก์อุทธรณ์ก็ตาม จึงเป็นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งจะเป็นบทเรียนแก่จำเลยในการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่ศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลย เพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษและให้คุมประพฤติจำเลย จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลอุทรณ์ภาค 3 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์