ทั้งๆ ที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงชัดถ้อยชัดคำ
"วันที่ 26 เมษายน เวลา 15.30 น. นายกรัฐมนตรี ผม และคุณกิตติรัตน์ พลเอกยุทธศักดิ์ จะเดินทางไปรดน้ำขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์"
เป็นการแถลงเมื่อวันที่ 20 เมษายน
แล้วเหตุใดเมื่อมีการนำ "สาร" นี้ไปสอบถามความเห็นต่อ ไม่ว่าจะกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ไม่ว่าจะกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ไม่ว่าจะกับ นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จึงกลายเป็น นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพาคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.เข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ทำไม "สาร" จึงถูก "แปลง"
แปลงจากคณะอันประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี
กลายเป็น "ครม." กลายเป็น "คณะรัฐมนตรี"
การแปลง "สาร" จากนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง เป็นคณะรัฐมนตรี สัมผัสได้จากอะไร
1 สัมผัสได้จากคำถาม
ขณะเดียวกัน 1 สัมผัสได้จากคำตอบ
นั่นเห็นได้จากคำถามต่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อต้องการทราบความเห็นกรณีนายกรัฐมนตรีจะนำ ครม.เข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
นั่นเห็นได้จากคำตอบจาก นายถาวร เสนเนียม ที่ว่า
"ผมจะคอยดูว่า หลังจากเข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแล้วคนเหล่านี้จะออกมาพูดอะไร"
ชัดอย่างยิ่งว่าเป็นการนำ "คณะรัฐมนตรี" เข้าไปโดย "นายกรัฐมนตรี"
นี่คือกระบวนการไหลเลื่อนของข่าว นี่คือรูปธรรมของการแปรเปลี่ยน "สาร" ในลักษณะของการ "แปลง"
เป็นการแปลงด้วยกระบวนการ "บิด" เล็กน้อย
ผลก็คือ ความตั้งใจเดิมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นผู้นำ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ารดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ขยายกลายเป็นนำ "ครม." ทั้งคณะ
ถึงแม้ว่าการทั้งหมดนี้จะออกมาจากปากของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความรับรู้อย่างมีลักษณะ "จำกัด"
เพราะแม้แต่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเดินทางไปราชการที่จังหวัดพิจิตร เมื่อปะเข้ากับคำถามจากนักข่าวก็ยังงงๆ
จึงตอบไปอย่างแบ่งรับแบ่งสู้
ยิ่ง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ยิ่งตอบอย่างตกอยู่ในกระสวนของการแปลงสารอย่างเต็มที่ทุกกระเบียด
นั่นก็คือ
"ทางพรรคได้รับโทรศัพท์จากประชาชนจำนวนมากว่า รู้สึกสบายใจที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและ ครม.จะเข้าพบผู้ใหญ่อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์"
เป็นการเข้าพบโดย "ครม."
นี่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการสื่อสารภายในรัฐบาลมีข้อจำกัด นี่สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการสื่อสารภายในพรรคเพื่อไทยมีข้อจำกัด การรับรู้ข่าวสารจึงเป็นการรับรู้จากสื่อแทนที่จะรับรู้จากนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าพรรค
จึงง่ายที่ข่าวจะถูกบิด จึงง่ายที่สารจะถูกแปลง
หลายฝ่ายอาจมองและประเมินว่าเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในสายพานข่าว
กระนั้น นับแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าบริหารราชการแผ่นดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เคยสงสัยหรือไม่ว่ากระบวนการบิด กระบวนการแปลงสารเกิดขึ้นแล้วกี่ครั้ง
เคยมีการตรวจสอบหรือไม่ เคยมีการสะสางและรับมืออย่างไร
แปลงสาร การข่าว กรณี ยิ่งลักษณ์ พบ เปรม เกิดจากเหตุปัจจัยใด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง แปลงสาร การข่าว กรณี ยิ่งลักษณ์ พบ เปรม เกิดจากเหตุปัจจัยใด