'ยิ่งลักษณ์' ชี้ ต้องตรวจสอบความจริง กรณี 'ชูวิทย์' แฉ สส.รัฐบาล กดบัตรแทนกัน ยืนยันพรรคมีบทลงโทษอยู่แล้ว ด้าน'นิพนธ์'เผย"ปชป."ยังไม่ถกปมกดบัตรแทน ระบุเหตุการณ์อย่างนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นในสถาบันสูงสุดของปท.
กล่าวถึงกรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย นำคลิปออกมา เปิดเผยว่า มี สส. 6 คน ของพรรครัฐบาล กดบัตรแทนกันว่า เรื่องนี้จะต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน อะไรไม่ถูก ก็ต้องตักเตือนกันไป ขณะเดียวกัน ถ้าหากผลการตรวจสอบแล้วผิดจริง พรรคก็มีบทลงโทษอยู่แล้ว
นิพนธ์"ระบุเหตุการณ์อย่างนี้ไม่สมควรเกิดขึ้นในสถาบันสูงสุดของปท.
รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไชด์ไทยแลนด์ ได้สัมภาษณ์ นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสียบบัตรแทนกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการลงมติพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้ตนเห็นว่าสมควรที่จะต้องเอาเรื่องใก้ถึงที่สุด เพราะต่อไปจะได้ทำกันอีก เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ทำให้เสื่อมเสียถึงสถาบันอย่างมาก นอกจากนี้การเสียบบัตรแทนกันถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หลังจากเกิดเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นทางพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาหารือกันว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่
เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลต่อร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า
ตนยังไม่ทราบ เพราะจะต้องดูผลคะแนนในการลงมตินั้นๆ เนื่องจากเราก็ไม่รู้ว่าในการลงมติแต่ละครั้งนั้นมีการเสียบบัตรแทนกันกี่คน และการเสียบบัตรแทนกันนั้นได้ทำให้ผลการลงคะแนนเปลี่ยนหรือไม่ และอีกเรื่องหนึ่ง คือ ตัวองค์ประชุม ซึ่งหากคะแนนผลโหวตออกมาเกินนิดหน่อย และทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้เช็คกันยาก แต่เรื่องที่เกิดขึ้นได้แสดงพฤติกรรมที่มิชอบและผิดกฎหมาย เรื่องเกิดขึ้นนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองประเด็น คือ เรื่องผลโหวต และความชอบธรรม ซึ่งเรื่องของผลโหวตนั้นจะทำให้เกิดความไม่ชอบทั้งกระบวน ปัญหาเรื่องนี้ตนเห็นว่าพวกเรา สส. จะมาตัดสินกันเองไม่ได้ จะต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาชี้ขาด แต่สำหรับในเรื่องของกฎหมายการกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
"ส่วนตัวของผมเอง หากไม่ได้อยู่ในห้อง หรือติดภาระกิจไม่สามารถอยู่ร่วมลงมติใดๆ ผมจะไม่เคยทิ้งบัตรเสียบทิ้งเอาไว้ และผู้ใดที่ไปกดลงคะแนนให้นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการใช้ลงคะแนนถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่สามารถใช้สิทธิแทน หรือมอบแทนกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะบุคคล และการไปกดคะแนนแทนกันแล้วทำให้ผลของการลงคะแนนมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตรงนี้ถือว่าเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ความผิดถึงต้องออกจากการทำหน้าที่และจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาด้วย เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะเกิดในสถาบันระดับสูงของประเทศ และจิตสำนึกของคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชน ไม่ควรเกิดขึ้น การประพฤติปฎิบัติจะต้องสูงกว่าคนธรรมดา โดยเฉพาะในเรื่องการทำความดี " นายนิพนธ์ กล่าว