ที่พรรคภูมิใจไทย วันนี้ ( 17 เม.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศว่า
ปีนี้เป็นปีมหามงคล และมีสิ่งบอกเหตุว่าจะได้กลับประเทศไทย ว่า วันนี้เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อยากกลับบ้าน สมาชิกในพรรคเพื่อไทยก็อยากให้กลับเช่นกัน แต่พรรคภูมิใจไทยบอกมาโดยตลอดว่าแนวคิดเรื่องของการปรองดองต้องมีเรื่องของการให้อภัย แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่สถานการณ์ ต้องถามว่าสังคมไทยพร้อมยอมรับให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับหรือไม่ แนวคิดเรื่องปรองดองในคนหมู่มากพร้อมยอมรับให้กลับหรือไม่
ที่สำคัญที่สุดต้องยึดหลักกฎหมายถ้าตอบโจทย์ตรงนี้ได้พรรคภูมิใจไทยไม่มีปัญหา
แต่ทั้งหมดไม่มีใครได้อย่างเดียวต้องได้บ้างเสียบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะกลับต้องดูว่าบรรยากาศการปรองดองเกิดขึ้นหรือยัง ถ้ายังแม่จะเป็นปีมหามงคลก็น่าจะขยับเลื่อนไปได้ พ.ต.ท.ทักษิณ รอมาได้หลายปีคิดว่าคงไม่อยากให้ตัวเองต้องกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่
นอกจากนี้ ทางพรรคได้มีการอภิปรายในที่ประชุมต่อกรณีที่สภาได้เริ่มพิจารณาพ.ร.บ.การ แก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมาด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยสบายใจ เพราะมีบรรยากาศของการรวบรัด เร่งรัด รู้สึกว่าสภาไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามเร่งกระบวนการ พิจารณาในวาระที่ 2 ให้แล้วเสร็จ พรรคภูมิใจไทย รู้สึกว่าการพิจารณากฎหมายหลักของประเทศน่าจะมีบรรยากาศที่ดีกว่านี้ เวลาในการพิจารณาควรที่จะดีกว่านี้ เนื้อหาควรที่จะมีประโยชน์มากกว่านี้
ดังนั้น ในการพิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 18 เม.ย. ตั้งแต่มาตรา 4เป็นต้นไป พรรคภูมิใจไทยจะโหวตไปในทางใดนั้น ขอพิจารณาในแต่ละมาตราอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องดูว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ก่อนลงมติเรียงตามมาตรา ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญ
เมื่อ ถามว่า ในส่วนของเนื้อหาสาระติดใจในเรื่องใดเป็นพิเศษ
นายศุภชัย กล่าวว่า ต้องดูในมาตรา 291 ว่า การตั้งส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นจะทำได้แค่ไหนอย่างไร หรือจะสามารถทำได้แค่บางมาตราเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคุณสมบัติส.ส.ร. การให้กกต.จัดการเลือกตั้งส.ส.ร.ทำได้หรือไม่ ล้วนเป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ราบรื่น มีหลายอย่างทับซ้อนอยู่ ดังนั้นการเร่งรีบในเรื่องนี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ และคิดว่าน่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยจนทำให้ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย หรือไม่ ทางพรรคภูมิใจไทยไม่อยากให้มีรอยด่างโดยเราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุน เพราะความรับผิดชอบครั้งนี้อยู่ที่สภาไม่ใช่รัฐบาล
“ทางออก นั้นทางพรรคเห็นว่ารัฐบาลควรใช้หลักนิติธรรม ที่ไม่ควรใช้จำนวนมือในสภาที่เป็นเสียงข้างมากลากไป ต้องคำนึงถึงหลักและเหตุผล ความถูกต้องมากกว่า” นายศุภชัย กล่าว