ดินไหวกสทช.อัดรัฐเฉื่อย-บริหารเหลว

ภาพจาก คมชัดลึกภาพจาก คมชัดลึก


"สุภิญญา"กสทช. ระบุอยู่ที่กึ๋น ผู้บห.ฟรีทีวี เสนอข่าวแผ่นดินไหว จวกรัฐเฉื่อยสะท้อนบริหารงานเหลว รับเป็นบทเรียน กสทช. ต้องทบทวนวางกรอบปฏิบัติร่วมกัน

           
13เม.ย.2555 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. เวลา 15.38 น. ซึ่งส่งผลกระทบต่อ 6 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ แต่สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี กลับไม่มีการตัดข่าวเข้าสู่สถานการณ์ที่ปัจจุบัน เพื่อแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้รับทราบนั้น
 
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับวิจารณญานของสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งมากกว่าว่าจะตัดสินใจอย่างไร หรือเรื่องอะไรที่จะมีความสำคัญมากกว่ากัน

เมื่อทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ออกประกาศแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการแล้วว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ และกำลังจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องสามารถตัดข่าวสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าสถานีได้ทันที และเรื่องนี้ไม่ต้องถึงมือของ กสทช. ด้วยซ้ำ

นางสาวสุภิญญา กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ยังมีสถานีโทรทัศน์หลายแห่งพยายามรายงานข่าวแผ่นดินไหว อย่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว แต่ก็ยังช้าอยู่ดี ซึ่งขณะนั้นตนได้แก้ปัญหาด้วยการโทรศัพท์และแจ้งประสานไปยังช่องฟรีทีวี เช่น อสมท และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เนื่องจากเห็นว่า อสมท มีเครือข่ายมาก และอยู่ในกำกับของหน่วยงานรัฐ ส่วนช่อง 3 ก็มีผู้ชมค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

แต่อย่างไรก็ตามทางผู้บริหารของทั้งสองสถานีก็ไม่สามารถรายงานข่าวดังกล่าวได้ ทำได้เพียงแค่รายงานเป็นตัววิ่งเท่านั้น โดยอ้างเหตุผลว่าติดการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารแต่ละสถานียังขาดการตัดสินใจที่ดี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับประ4ชาชนและประเทศอย่างมหาศาล ส่วนรัฐบาลเองก็ไม่รู้จักการบริหารที่ดี ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร สถานีโทรทัศน์มีถึง 6 ช่องทำไมไม่เลือกมาสักช่องว่าจะให้ช่องไหนตัดรายงานสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างช่อง 9 เป็นสถานีที่มีเครือข่ายมากและอยู่ในความกำกับดูแลของรัฐ ก็ควรต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอด ทำไมไม่ทำ ทั้งนี้่ส่วนตัวก็เข้าใจว่าเรื่องพระราชพิธีเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน " นางสาวสุภิญญา กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ทำให้ กสทช. ต้องกลับมาทบทวนว่าในอนาคตจะต้องมีการวางกฎเกณฑ์และนโยบายให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีจะต้องปฏิบัติร่วมกัน หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินเช่นนี้อีก

"ทั้งนี้แนวทางแก้ปัญหา อาจจะให้อำนาจศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในการตัดรายงานสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ในกำกับของรัฐได้ทันที ขณะที่รัฐบาลจะต้องกำหนดให้ อสมท เตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลา หากเกิดภัยพิบัติฉุกเฉินขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเลือกแต่ต้องบริหารงานให้เป็น ตัดสินใจให้รวดเร็วกว่านี้เพราะสถานการณ์ดังกล่าวกระทบกับประชาชนและประเทศอย่างมหาศาล" นางสาวสุภิญญา กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์