“จุรินทร์”ซัดปรองดอง–แก้รธน.ชนวนความขัดแย้งรอบใหม่

“จุรินทร์”ซัดปรองดอง–แก้รธน.ชนวนความขัดแย้งรอบใหม่

วันนี้ ( 6 เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ว่า หลังจากนี้เมื่อส่งรายงานของกรรมาธิการฯ ไปยังรัฐบาล ก็จะกลายเป็นเรื่องของการรับลูก การชงลูก ระหว่างกรรมาธิการฯ และรัฐบาล เพื่อนำรายงานดังกล่าวไปเป็นข้ออ้างในการลบล้างผลคดีของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) กับการนิรโทษกรรมต่อไป และจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งรอบใหม่ และจะเป็นการเริ่มต้นคู่ขัดแย้งคู่ใหม่ ระหว่างคณะกรรมาธิการฯกับสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพระปกเกล้ากับรัฐบาล ขณะเดียวกันถ้ามีการนิรโทษกรรม จะทำให้เกิดปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤติของประเทศอีกครั้ง


“เราได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว แต่ภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการใช้เสียงข้างมากบังคับเอา สิ่งที่จะได้คือความยุติธรรมของผู้ชนะ แต่มันไม่มีทางได้ความปรองดองที่แท้จริง ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องติดตามอย่างรู้เท่าทัน ถ้าเกิดความเสียหายกับบ้านเมืองนอกจากรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ คณะกรรมาธิการฯและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบด้วย”นายจุรินทร์ กล่าว


เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะมีการนิรโทษกรรมมากน้อยแค่ไหน นายจุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการฯสู่ที่ประชุมรัฐสภา

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. และประธานสภาฯรับลูกบรรจุวาระในวันที่ 24 มี.ค. ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศกลับบ้านแบบเท่ๆมีขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 24 มี.ค. แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนว่ามีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ และเป็นเรื่องเดียวกัน จึงอนุมานได้ว่าจะต้องกลับมาโดยไม่มีความผิด แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการนำรายงานกรรมาธิการฯนี้ไปเป็นข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่มาจินตนาการเอาเอง โดยไม่มีที่มาที่ไป เมื่อถามว่ามองอย่างไรต่อการนำแถลงการณ์ของสถาบันพระปกเกล้าเข้าแนบท้าย นายจุรินทร์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯชงไปยังรัฐบาลเรียบร้อยแล้วว่าจะดำเนินการในลักษณะใด แล้วรัฐบาลจะรับลูกหยิบยกบางประเด็นไปดำเนินการ


ต่อข้อถามว่าแถลงการณ์สถาบันพระปกเกล้าทั้ง 3 ข้อ ถ้าส่งไปยังรัฐบาลแล้ว ไม่สามารถกระทำได้ทั้งหมด
 
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ 1.สถาบันพระปกเกล้าไม่ได้มีความเห็นส่งให้รัฐบาล แต่เขามีความเห็นให้ส่งไปยังคณะกรรมาธิการฯ 2.การจัดเสวนานั้น สถาบันพระปกเกล้าเขาจะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน แต่ถ้ารัฐบาลทำรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งสภาพของความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือได้ มันก็ต่างกัน จะเชื่อได้อย่างไรว่าผลการจัดเสวนาจะเชื่อถือได้ และเขาจะไปหยิบยกบางประเด็นมาดำเนินการหรือไม่ ทั้งนี้ สิ่งที่เรากังวลคือระบบนิติรัฐ ถ้าคำพิพากษาศาลฎีกายังล้มล้างได้ด้วยการใช้เสียงข้างมาก ต่อไปก็ไม่มีการเกรงกลัวกฎหมาย

เมื่อถามว่าสามารถซ่อนการล้างความผิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า

ถ้าไม่มีมาตรา 309 นัยทางกฎหมายเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่นักกฎหมายต้องพูดกัน แต่ตนคิดว่าในแง่ผลประโยชน์อาจจะถูกหยิบยกมา ในการนำไปสู่การล้างผิดต่อไป สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)จะเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับการใช้ในการบรรลุเป้าหมายดียวกันกับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อคนคนเดียวเป็นหลัก แต่รูปแบบเนื้อหาอะไรต้องติดตาม ตนเชื่อว่ามีการแทรกแซงทางการเมืองแน่นอน.

 


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์