ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างที่ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายอภิปรายนั้นแทบไม่มีการประท้วงที่ทำให้บรรยากาศการประชุมวุ่นวาย
ต่อมาเวลา 23.35 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า กระบวนการปรองดองต้องตอบโจทย์ไปถึงอนาคต และถึงลูกหลานที่จะไม่ทำให้เราย้อนกลับมาสู้สถานการณ์แบบนี้อีก ทั้งนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้ง ใครที่จะได้รับการปูนบำเหน็จในวันนี้ ทั้งตำแหน่งและเงินทอง คำกล่าวหาตนก็ออกจากปากคนที่ได้ดิบได้ดีที่สุดในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง และแม้แต่คนในพรรคท่านเองก็ยังมาบอกว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะหยุดพ่อค้าความขัดแย้งที่ได้ดิบได้ดีเหล่านี้ ซึ่งยืนยันว่าพวกตนนั้นไม่ใช่ผู้ค้าความขัดแย้งอย่างแน่นอน ตนอยากเห็นการปรองดองที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันจริงๆ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะมาฟังตรงนี้ได้หรือไม่ เมื่อเรื่องนี้กำลังจะถูกส่งให้กับรัฐบาล
“ท่าน(พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ฐานะประธานกมธ.ปรองดอง ในฐานะอดีตประธานคมช.) ลุกขึ้นมาบอกสิครับว่า ผมเคยชมท่านหรือไม่วันที่ท่านยึดอำนาจ ผมชื่นชมท่านครั้งแรกคือวันที่ท่านจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือครั้งแรกที่ผมไปบอกกับท่านว่าผมชื่นชมท่านที่เลือกเส้นทางนี้ ท่านลุกขึ้นมาบอกสิครับว่า ผมเคยต้องการอะไรบ้างจากการยึดอำนาจของท่าน กรรมาธิการฯ บางท่านยังมาคุยกับผมเป็นการส่วนตัวด้วยว่า ไม่เชื่อหรอกว่าจะมีใครไปสั่งฆ่าประชาชน เอาความจริงมาพูดกันเถอะว่ามีคนต้องการไม่ให้จบ เหตุการณ์ปี 2553 ถ้าไม่มีคนติดอาวุธในกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งผมเชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่ทราบ และก็ไม่แน่ใจว่าแกนนำคนไหนทราบหรือไม่ทราบ แต่มีแกนนำบางคนบอกบนเวทีเองว่า มีกองกำลังติดอาวุธมาช่วย ซึ่งความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีการยิงเอ็ม79 จากนั้นก็สับสนอลหม่าน ซึ่งต้องค้นหาความจริงกันต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า
มันติดขัดตรงไหน ตรงที่เรื่องของการนิรโทษกรรมและคดีของคตส. กล่าวหาว่าตนเป็นอุปสรรค เห็นแก่ตัวไม่อยากให้ปรองดอง
ถ้าบอกว่าก้าวข้ามตรงนี้ ก้าวข้ามบุคคลได้ไหม ส.ส.ของรัฐบาลเคยเปิดอกคุยกับตนเรื่องนี้ว่า จำเป็นต้องตอบโจทย์พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะปั่นป่วนต่อไป ท่านไปตีความเอาเองว่าแปลว่าอะไร แต่ถ้าจะตอบโจทย์พ.ต.ท.ทักษิณก็ขอว่าอย่าทำลายระบบของประเทศได้หรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า หลักของบ้านเมืองจะเสียหรือไม่ ส่วนที่มีการสร้างวาทะกรรมว่า ถ้าไม่ปรองดองกับผู้ก่อการร้ายก็จะไม่ปรองดองกับฆาตกรนั้นอยากให้ระวัง เพราะทั้งผู้ก่อการร้ายและฆาตกรนั้นเป็นคนเดียวกัน และที่มีการท้าว่า 2 ต่อ 2 หรือไม่นั้น ตนให้ 2 ต่อ 1 คือ นิรโทษกรรมให้ทุกคนยกเว้นคน 3 คนคือ ตน นายสุเทพ และพ.ต.ท.ทักษิณ ท่านนายกฯ จะเอาหรือไม่ ขอให้มีแค่ 3 คนเท่านั้น ตนพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อประชาชนและประเทศ
“ผมต่อให้ 2 ต่อ 1 ผมกับคุณสุเทพ 2 คน ไม่รับการนิรโทษกรรม แลกกับคุณทักษิณไม่นิรโทษกรรมคนเดียว ที่เหลือนิรโทษให้หมด อย่างนี้ประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน และคุณทักษิณกลับมาสู้คดีเลย วันนี้อย่าลากสภาฯ ไปรองรับการตอบโจทย์ของใครซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาของบ้านเมืองอย่างแท้จริง อย่าทำให้คำว่าปรองดองถูกปล้น และอย่าให้นายปรองดองถูกลักพาตัวแล้วไปเอาเสื้อนิรโทษกรรมมาคลุมใส่ พวกผมไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ และพร้อมที่จะสนับสนุนหากกระบวนการนั้นจะทำให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง”ผู้นำฝ่ายค้านกล่าว
หลังจากนั้นพล.อ.สนธิ ชี้แจงปิดท้ายว่า การวิจัยเรื่องการปรองดองทุกขั้นตอนของคณะกรรมาธิการฯ
ยืนยันว่าทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อผลประโยชน์ปรองดองจริง สิ่งที่ตนจะมอบให้สภาฯนี้เป็นงานวิจัย หากไม่ฟังข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของอีกหลายฝ่ายก็คือว่ารัฐบาลคงหนักใจ และขอแนบข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้าให้ไปศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามต้องปล่อยให้เดินตามวิถีทาง แต่ยืนยันว่าเดินไปอย่างไรเป็นผลดีของบ้านเมือง ซึ่งนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการก็ได้ยืนยันแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ผลจากตรงนี้ ขอให้ทุกคนสบายใจ ยืนยันคณะทำงานทั้ง 38 คน ทำด้วยเหตุผล ส่วนอีก 9 คนลาออกก็ลาออกภายหลังจากที่ทุกอย่างทำเสร็จแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนปิดการอภิปรายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ได้สอบถามนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร์
ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมว่าจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไร โดยตั้งข้อสังเกตว่า สุดท้ายแล้วจะมีใครนำรายงานนี้ไปใช้ประโยชน์วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งนายสมศักดิ์ยืนยันว่า การจะถอนรายงานของคณะกรรมาธิการฯหรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมาธิการฯโดยรวม แต่ตนคงไม่ต้องให้มีการลงมติ เพราะเป็นเพียงเรื่องแจ้งให้ทราบ เมื่อรายงานจบก็ถือว่าที่ประชุมรับทราบรายงานฉบับนี้แล้ว ส่วนข้อสังเกตในท้ายรายงานนั้นก็อยู่ที่กรรมาธิการฯจะพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตามการพิจารณาต่อเนื่องมา 2 วัน 2 คืน รวมเวลากว่า 21 ชั่วโมง ที่สุดที่ประชุมได้รับทราบรายงานทั้งหมด
โดยคณะกรรมาธิการฯได้แนบบันทึกความเห็นต่างของคณะกรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย ที่อยู่ในภาคผนวกส่งไปด้วย และที่ประชุมมีมติให้ส่งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการไปยังครม. ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านพากันคัดค้าน แต่ที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 แล้วนายสมศักดิ์สั่งปิดการประชุมเวลาประมาณ 01.45น.ของวันที่ 6 เม.ย.