วันนี้ (28 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางบลู สกาย แชนเเนล
ถึงบรรยากาศการประชุมร่วมของรัฐสภาว่า พล.อ.สนธิ บุญยกลิน ประธานคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ไม่ยอมตอบ 3 คำถามของตน และสุดท้ายที่ประชุมรัฐสภาก็ใช้เสียงข้างมากปิดอภิปราย ตนไม่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในออกกฎหมายปรองดอง แต่ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนปรองดอง แต่ไม่สนับสนุนให้ล้างผิดคนโกง ขณะนี้กำลังจะอ้างการปรองดองเพื่อมาล้างโกง ซึ่งเป็นปัญหาความแตกแยกรุนแรงต่อไป อย่างไรก็ตามการที่ประธานสภา จะบรรจุวาระเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 เม.ย. เห็นว่าระหว่างวิปฝ่ายค้าน กับฝ่ายรัฐบาลควรมีการพูดคุยกัน เพราะรัฐบาลต้องกลับไปทบทวนให้ดีว่านี่คือแนวทางที่กำลังจะนำพาประเทศไปจริงหรือไม่ หรือต้องการให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ หรือต้องการที่จะบอกว่าเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงใครทั้งสิ้น ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้สถาบันพระปกเกล้า และคณะผู้วิจัยกำหนดจุดยืนของตนเองให้ชัดเจนต่อเรื่องนี้ และไม่ควรปล่อยให้มีการนำงานวิจัยไปบิดเบือนเพื่อนำไปใช้ล้างความผิดให้กับคน ๆ เดียว ถ้ามีการถอนผลวิจัย จะทำให้เรื่องนี้หมดความชอบธรรมในการที่คณะกรรมาธิการฯจะนำไปอ้างอิง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อสังเกตถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรี ที่เยือนประเทศเกาหลี ระหว่างการเร่งกระบวนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า
นายกฯ ถูกวางบทบาทให้เล่นแบบนี้ ด้วยหลายเหตุผล ประกอบด้วย 1.หลายคนกังวลว่า ถ้านายกฯ มายุ่งเรื่องนี้มาก จะมีคนบอกว่าเป็นคนมีส่วนได้เสีย เพราะพี่น้อง คนในตระกูลชินวัตรได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีการกันไม่ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในที่ประชุม หรือไม่ให้อยู่ในประเทศ หรือไม่ให้อยู่ในสภา 2. สร้างภาพของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นคนที่ไม่ขัดแย้งกับใคร ทำแต่สิ่งดี ๆ หรือสวย ๆ งาม ๆ แล้วก็พยายามที่จะโยนความผิดว่าความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องของคนอื่น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือกลยุทธ์ที่ทางฝ่ายรัฐบาลเขาวางไว้ชัดเจน แต่ว่าสังคมก็ต้องรู้ทัน แล้วก็ต้องรู้ว่าของจริง งานจริง ๆ ที่รัฐบาลเดินนั้นคืองานตรงนี้ แต่กันนายกฯ ออกไป
“ของจริงมันต้องการให้พ้นผิด ต้องการที่จะดูซิว่า จะปูทางไปสู่การกลับมาสู่ประเทศ ดีไม่ดีก็เตรียมการในเรื่องของการที่พยายามจะเอาเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทที่ถูกยึดอะไรต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่เราเคยเตือนสังคมไว้ตลอด ว่านี่คือความตั้งใจจริง แต่ในส่วนที่เคยหาเสียงเอาไว้นั้น วันนี้ไปถึงไหนล่ะครับ กระชากค่าครองชีพลงอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่ใช่งานหลักที่เขาทำ งานหลักคือตรงนี้แหละครับ เพียงแต่ว่ากันนายกฯ ออกไป ไม่ให้นายกฯ มายุ่งกับเรื่องพวกนี้ ผมว่าเขาก็มีแนวทางชัด แล้วก็สุดท้ายก็คงไม่พ้นหรอกครับว่า พอรายงานเข้าสภา ก็จะอ้างว่ารายงานนี้มีการพูดถึงนิรโทษกรรม ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ว่าอาจจะเรียกว่ากฎหมายปรองดอง ตามที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พูดไว้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.