นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวผ่านบลูสกายชาแนล ถึงแนวทางของกรรมาธิการ (กมธ.) ปรองดอง
ในส่วนของ ปชป.ต่อการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่า คงต้องถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน กมธ. เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบอกว่าจะมาพิจารณาเพื่อที่จะดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ทั้งหมดนี้ พยายามที่จะสร้างภาพของความชอบธรรมว่ามีรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งพูดถึงการนิรโทษกรรม การล้มคดี คตส. แล้วก็อ้างว่า กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางนี้ต้องทำ แล้วไปสอดรับกับการที่มีการพูดถึง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จะนิรโทษกรรมล้างคดี ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอให้ทำ แต่มีการพยายามวาดภาพให้เป็นอย่างนั้น ซึ่งแปลกใจว่าทำไมคณะผู้วิจัยที่เห็นว่ากำลังจะมีการเดินไปในลักษณะนี้ แต่กลับยินยอม แล้วจะตกเป็นจำเลยร่วม กลายเป็นเครื่องมือ ตนไม่สบายใจ ถึงได้เรียกร้องสถาบันพระปกเกล้าก็ดี น่าจะต้องมีท่าทีในเรื่องนี้ โดยแม้ว่าเรื่องจะเข้าสภาไปแล้ว หากจะถอนผลวิจัยก็ยังทัน คืออย่าให้มีการเอาเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาเท่านั้นเอง
ส่วนที่พรรคเพื่อไทยระบุ ปชป.ขัดขวางการปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นการบิดเบือน ถ้าจะปรองดองก็ต้องทำอย่างที่พวกตนกำลังทำ
คือการมานั่งคุยกันตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ แต่กลับมีการเอาคำว่าปรองดองมาบังหน้า เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนโกง ทั้งที่มีบางเรื่องที่เดินได้ แต่ไม่ยอมหยิบมาคุย ไปหยิบเอาสิ่งที่เป็นปัญหา ในเรื่องการล้มคดี คตส. โดยในรายงานวิจัยเขียนไว้ด้วยซ้ำว่าเป็นข้อเสนอสุดโต่ง ปรองดองได้ยากเพราะจะถูกมองว่าผู้ทำความผิดลอยนวล แต่ตนก็ยังงงว่าแล้วทำไมข้อเสนอนี้ยังปรากฏอยู่ ในเมื่อตัวเองก็ยอมรับเองว่า มันปรองดองได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องกลับไปทบทวน แต่ก็เสียดายว่ายังไม่มีท่าทีว่าจะมีการทบทวน ตนก็ไม่อยากให้สถาบันพระปกเกล้าหรือคณะผู้วิจัยนั้นกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการช่วยให้คนพ้นผิด
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เห็นด้วยกับการล้มคดี คตส.
โดยคิดย้อนกลับไปสมัยนโยบาย 66/23 ว่า เป็นคนละเรื่องกัน ประเด็นนี้เป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างความสับสนเพิ่มขึ้น ปัญหากรอบของการนิรโทษคดีต่างๆ ในครั้งนั้นเป็นการสู้รบระดับประเทศ มีการเสนอเลิกรบกัน ให้วางอาวุธ แล้วก็มีการนิรโทษกรรมอะไรต่างๆ แต่ก็ไม่ไปครอบคลุมถึงกรณีที่ไปทำผิดอาญา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า คดีต่างๆ นั้นไม่ใช่หมายความว่า 66/23 แปลว่า ถ้ามีการสู้รบแล้วมีคนไปจงใจทำผิดอาญา ไม่ใช่เรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง แล้วแปลว่าจะต้องได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย แล้วช่วงนั้นก็ไม่มีใครมามีปัญหาเรื่องคดีทุจริต และถือเป็นคนละเรื่องกับคอมมิวนิสต์
"หากมีการใช้แนว 66/23 แปลว่ากลุ่มคนเสื้อแดงต้องสลายใช่หรือไม่ แนว 66/23 นั้นบอกนิรโทษกรรมแปลว่าต่อไปนี้ไม่มีคอมมิวนิสต์ ทุกคนต้องเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่ขณะนี้ยังประกาศกันกึกก้องว่า จะเดินหน้าทำหมู่บ้านเสื้อแดง ตำบลเสื้อแดง จังหวัดเสื้อแดง อำเภอเสื้อแดง ก็แปลว่ายังไม่หยุด ถ้าจะทำอย่างนั้นแล้วจะหยุด ก็ถามว่าหยุดจริงหรือ แล้วใครจะเป็นคนตอบว่าจะเป็นคนหยุด รัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะมีสิทธิตอบแทนคนเสื้อแดงหรือเปล่า ฉะนั้นเงื่อนไขอะไรต่างๆ ถือว่าไม่ใช่ จึงคิดว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างความสับสนเพิ่มขึ้น แนวการปรองดองนั้นมันมีอยู่ ที่สามารถทำได้ แต่ขณะนี้มันขาดความจริงใจเพราะมันมีเป้าหมายอื่นเข้ามา" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเกิดมีการปรับปรุงรายงานตั้งแต่การถอนข้อเสนอที่มันสุดโต่งของคณะผู้วิจัย
กับการที่ให้มีการปรับปรุงรายงานของ กมธ.ตามเจตนารมณ์ของผู้วิจัย แล้วสภามาตกลงกันว่า ในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน 2 เรื่อง คือการนิรโทษกรรม กับกรณีของ คตส.มาจัดเวทีต่างๆ เพื่อค้นหาทางที่ถือว่าไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย ผมว่าถ้าทำอย่างนี้ทุกอย่างก็กำลังเดินหน้าไปได้ ข้อเสนออื่นๆ ก็เดินหน้าไปได้เลย บางเรื่องที่เห็นตรงกัน ผมยกตัวอย่างเช่นอย่างที่บอกเมื่อสักครู่ว่า นิรโทษกรรม คนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ทำไปได้เลย ไม่มีใครมีปัญหาอะไรเลย และอยากให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง และอยู่ในฐานะที่จะช่วยประคับประคองขบวนการปรองดอง ขออย่าอนุมัติให้มีการเดินหน้าในลักษณะที่จะหักกันด้วยเสียงข้างมากแบบนี้