ปปช.เค้นเทือก4ชั่วโมงให้การคดี91ศพ ผังล้มเจ้าใกล้จบ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้เข้าชี้แจงข้อมูลเพิ่มต่อคณะกรรมการป.ป.ช.กรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปีพ.ศ.2553 โดยนายสุเทพเดินทางมาด้วยรถยนต์กันกระสุน พร้อมส.ส.คนสนิท และ ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ใช้เวลาในการให้ปากคำกว่า 4 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 17.15 น. หลังจากชี้เเจงเสร็จสิ้นนายสุเทพให้สัมภาษณ์ว่าตนเดินทางมาให้ปากคำต่อป.ป.ช.ตามหนังสือที่ป.ป.ช.แจ้งไป
 
จากการที่พรรคเพื่อไทยยื่นข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย.2553 เนื่องจากไม่มีเหตุอันควร และกล่าวหาว่าตนสั่งการใช้กำลังตำรวจ ทหาร เข้าสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงกล่าวหาว่าตนได้ใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ในการส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมสถานีดาวเทียมไทยคมในวันที่ 8-9 เม.ย. 2553 และกล่าวหาว่าตนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 และระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งตนได้เคยทำเอกสารชี้เเจงต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2553 มาเเล้วครั้งหนึ่งจำนวน 37 หน้า

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ตนได้นำเอกสารมาชี้เเจงป.ป.ช.ทั้งในส่วนเอกสารที่เป็นข้อความ เอกสารที่เป็นภาพถ่ายทั้งภาพนิ่งเเละคลิปวิดีโอ ประมาณ 300 กว่าหน้า
 
และอธิบายให้ป.ป.ช. ได้ทราบอย่างชัดเจนว่าตนและนายอภิสิทธิ์ รวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ทั้งการประกาศและการสั่งการทำตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้ ไม่ได้ทำเกินกว่ากรอบที่กฎหมายกำหนด ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการด้วยความอดทนอดกลั้น และใช้มาตรการทางกฎหมาย และปฏิบัติตามหลักสากล และใช้ปฏิบัติการจากเบาไปหาหนัก เป็นขั้นเป็นตอน และเคารพในสิทธิประชาชน แต่ว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ อย่างที่ศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยเอาไว้ชัดเจน โดยตนได้นำคำวินิจฉัยของศาลแพ่งมาเสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ด้วย

ปปช.เค้นเทือก4ชั่วโมงให้การคดี91ศพ ผังล้มเจ้าใกล้จบ

นายสุเทพอ้างว่ารัฐบาลได้ใช้ความระมัด ระวังในการปฏิบัติการกับผู้ชุมนุม และไม่มีครั้งใดเลยที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม
 
การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 มีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของผู้ก่อการร้ายชุดดำที่เอาอาวุธสงครามทั้งปืนเอ็ม 16 ปืนอาก้า ปืนเอ็ม 79 และระเบิดแบบขว้างเอ็ม 67 ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ตามภาพวิดีโอที่มอบให้ไว้กับป.ป.ช. จนมีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บกว่า 800 คน ช่วงที่ 2 ที่มีคนเสียชีวิตมากคือวันที่ 13-19 พ.ค.2553 ที่เจ้าหน้าที่ได้ตั้งด่านสกัดกั้นที่ปทุมวัน ถ.พระราม 4 เพลินจิต แยกวิทยุ และราชปรารภ ไม่ให้มีการขนคนมาชุมนุมเพิ่มในพื้นที่ราชประสงค์ เพราะต้องการให้เลิกชุมนุมเอง โดยไม่ได้เข้าไปในเวทีราชประสงค์แต่อย่างใด แต่ในตอนกลางคืนกลับมีกองกำลังของผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีด่านต่างๆ ของเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 50 คน

นายสุเทพอ้างว่า ช่วงวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่เพื่อเข้าควบคุมโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ถูกผู้ก่อการร้ายยึดเอาไป

สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่จะใช้บริการในโรงพยาบาล รวมถึงการเข้าควบคุมสวนลุมพินีที่ผู้ก่อการร้ายใช้เป็นที่ซ่องสุมกำลังและซ่องสุมอาวุธ และใช้อาวุธ เช่น ปืนเอ็ม 16 และปืนยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง ยิงใส่พื้นที่สีลม ยิงใส่โรงแรมดุสิตธานี ยิงใส่ตึกอื้อจือเหลียง และยิงใส่ประชาชนที่สัญจรไปมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์อยู่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติการในวันที่ 19 พ.ค.2553 มีเป้าหมายเพื่อควบคุมพื้นที่เหล่านี้ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไปมากกว่านี้ และเมื่อเจ้าหน้าที่ยึดสวนลุมพินีและโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้เเล้วก็ได้หยุดอยู่ที่ถ.สารสิน ซึ่งห่างจากเวทีราชประสงค์ร่วม 1 กิโลเมตร ไม่ได้เข้าไปในบริเวณเวทีราชประสงค์แต่อย่างใด

"ได้รวบรวมพยานหลักฐานให้กับป.ป.ช. อย่างครบถ้วน โดยป.ป.ช.ได้สั่งให้เอาสำเนาคำชี้เเจงที่ตนได้ชี้เเจงต่อพนักงานสอบสวนของกรมตำรวจ 2 ครั้งมาส่งมอบให้ และให้ติดตามเอาผลการดำเนินคดีทั้งที่อยู่ที่ดีเอสไอ สำนัก งานอัยการสูงสุด และระหว่างอยู่ในการพิจารณาของศาลมาส่งให้พิจารณาร่วมกันด้วย" นายสุเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นที่มาชี้เเจงส่วนมากเป็นประเด็นทางด้านข้อกฎหมาย หรือเป็นประเด็นทางด้านข้อเท็จจริง
 
นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นข้อเท็จจริง เนื่องจากคณะกรรมการป.ป.ช.ท่านเป็นนักกฎหมายอยู่เเล้ว โดยหลังจากนี้ตนไม่ต้องเข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมการป.ป.ช.อีกแล้ว เพียงแต่ส่งเอกสารที่ป.ป.ช.ขอมาเพิ่มเติมเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าส่วนที่นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ที่กล่าวว่ามีการสรุปว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำให้ประชาชนเสียชีวิตนั้น
 
นายสุเทพกล่าวว่า ตนได้ชี้เเจงเเล้ว และได้เรียนไปว่าทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอได้เคยยืนยันชัดเจนว่าไม่ทราบว่าการเสียชีวิตของประชาชนนั้นใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต ส่วนการเปลี่ยนแปลงผลการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงในระยะหลังเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลนั้นจะเป็นอย่างไรตนไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากพ้นตำแหน่งมานานแล้ว

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์