27 มี.ค.55 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกมาระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฏร รวบรัดเสนอผลการพิจารณาแนวทางปรองดองตามผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งว่า ไม่น่าจะเกิดความขัดแย้ง เพราะฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ของเขา ถ้าฝ่ายค้านเห็นด้วยกับรัฐบาลถือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ไม่เห็นด้วยแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ จึงไม่มองว่าจะเป็นปัญหาหรืออุปสรรค ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็เล่นการเมืองเก่งอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โต
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าแนวทางความปรองดองจะนำไปสู่กฏหมายนิรโทษกรรมนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน
เพราะรายงานเป็นนามธรรม หากจะจับต้องได้ต้องเป็นรูปธรรม และต้องออกเป็น พรบ.ปรองดอง ซึ่งทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนมองว่าการประชุมในวันนี้สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้อะไร เพราะเป็นนามธรรม เป็นแนวคิดให้สภาฯพิจารณา ถามว่าเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนที่หากสภาฯ เห็นชอบให้รัฐบาลดำเนินการตามแนวทางการปรองดอง มองว่า รัฐบาลควรทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลก็จะไม่เป็นแม่งานในการดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตามเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของตนอาจจะผิดก็ได้
เมื่อถามว่า แต่มันถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่จะนำแนวทางการปรองดองเข้าสู่สภาฯ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ออกมาระบุว่า พร้อมจะกลับเมืองไทยอย่างเท่ห์ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ขอออกความคิดเห็นในเรื่องนี้ และจะไม่ขอพูดเรื่องนี้อีก ทั้งนี้ เมื่อถามว่า พรบ.ปรองดอง และ พรบ.นิรโทษกรรม แตกต่างกันอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยถึงพรบ.ส่วนตัวที่อยู่ในใจได้ แต่ถ้าเป็นแนวทางการปรองดองของตน ทุกภาคส่วนต้องได้หมด ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด และต้องไม่รื้อฟื้นถึงอดีต หากรื้อฟื้นก็ไม่มีวันจบ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายค้านและไม่กล้าแนะนำใครด้วย ส่วนบรรยากาศการเมืองขณะนี้ถือเป็นปกติของการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่มี ความเห็นตรงกันไม่ได้ ต้องขัดแย่งกันเสมอ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรบ.ปรองดอง จะสามารถนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศได้หรือไม่หลังจากที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบ แต่ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจ แต่ไม่ขอตอบว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ ส่วนตัวเข้าใจหัวอกคนลี้ภัยที่อยากกลับบ้าน