วันนี้ ( 26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ และร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ประจำปี 2555 ในระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค.ว่า เมื่อเวลา 08.00น. วันที่ 26 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับนักธุรกิจไทย เพื่อสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ และรับฟังคำแนะนำต่างๆจากภาคเอกชน จากนั้นเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์และบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย แก่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ehwa Woman’s University) กรุงโซล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหญิงล้วนที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า ตนที่ชื่นชมการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีในเกาหลีใต้ ที่ทำให้สถานภาพของสตรีมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย โดยอยู่ในลำดับที่ 11 ของโลกในปี 2011 ซึ่งเป็นบทพิสูจน์และเห็นชัดเจนว่าผู้หญิงมีศักดิ์ศรีและบทบาทไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย ขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังมีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน ประนีประนอม เกื้อหนุนเพื่อความสงบสันติ ตนเชื่อว่าหากเราทั้งหญิงชายรวมพลังกันก็จะนำมาซึ่งประโยชน์และความเจริญต่อมวลมนุษยชาติได้
“กว่าที่ดิฉันมายืนตรงนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับ และถึงแม้เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังต้องพิสูจน์ตนเองทุกวันไม่หยุดหย่อน ดิฉันเข้าใจดีว่าเส้นทางของผู้หญิงที่จะประสบความสำเร็จได้มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย ต้องอดทนหนักแน่น และที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความสามารถไขว่คว้าโอกาสที่เปิดขึ้นเพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ในการพัฒนาประเทศอันเป็นที่รัก ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่เข้าสู่วงการเมือง คือต้องการผลักดัน การสร้างโอกาสให้กับพี่น้องสตรีทุกวัยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการธุรกิจ การเมือง หรืออื่นใดก็ตาม และในการที่จะใช้โอกาสนั้นสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงตลอดจนการดูแลครอบครัวและตนเองให้มีความสุข” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีว่า วันนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิของหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน มีการจัดทำแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติ
มีการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับหลายฉบับ แต่โอกาสและบทบาทของสตรียังสามารถก้าวไกลไปกว่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญและเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ และความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้หญิงทุกคน ตนภูมิใจที่จะบอกว่าหลังจากกองทุนตั้งมาได้เพียง 1 เดือน มีผู้หญิงไทยทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน และได้เชิญองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนฯด้วย