ปูปิ๊งไอเดียจัดการน้ำเอาอย่างเกาหลีใต้

ปูปิ๊งไอเดียจัดการน้ำเอาอย่างเกาหลีใต้

วันนี้ ( 25 มี.ค.) ที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

จากการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมอุทกภัยแม่น้ำฮัน กรุงโซล และเยี่ยมชมฝายอิโป เมืองยอจู จังหวัดคยองกี และได้รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำของเกาหลี มีความใกล้เคียงกับเมืองไทย โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง โดยเกาหลีใต้มีแม่น้ำใหญ่ 4 สาย จึงได้เชื่อมโยงแม่น้ำทั้งหมดด้วยการสร้างฝายอิโป แล้วใช้ศูนย์กลางการควบคุมในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์และการเตือนภัย ซึ่งตรงกับสิ่งที่ไทยต้องการ ขณะที่ไทยมี 25 ลุ่มน้ำ ที่ต้องเชื่อมแม่น้ำสายหลักประมาณ 4 - 8 ลุ่มน้ำ ด้วยการใช้ระบบสั่งการจากจุดเดียว ในการรวมข้อมูลเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด โดยจะใช้เทคโนโลยีหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมและอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะต้องมีนักวิเคราะห์ที่ชำนาญการเตือนภัย  ส่วนการก่อสร้างเขื่อนหรือฝาย ตนมองว่าไทยต้องมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีทัศนียภาพที่สวยงาม เพื่อให้ประชาชนเกิดการยอมรับ เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่สร้างการยอมรับจากประชาชนด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลดีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งฝายอิโปสามารถชะลอความแรงของน้ำลดการท่วมขังแล้วยังสามารถนำไปใช้ด้านการเกษรกรรมและผลิตไฟฟ้าป้อนประชาชนได้ ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าส่งเข้าชุมชนประมาณ 58,000 ครัวเรือน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนการทำงานของคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)

อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลน้ำทั้งหมดจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นรูปแบบปัจจุบัน (เรียลไทม์) ซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนาระบบควบคุมหลายปีเหมือนกับเกาหลีจึงจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น เบื้องต้นจากการดูงานเรื่องน้ำในเกาหลีร่วมกับ กยน. มีหลายอย่างที่อาจดึงมาปรับใช้กับระบบการบริหารจัดน้ำของไทย แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเทคโนโลยีและดูงานในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมกับไทยมากที่สุดในระยะยาว แต่ล่าสุดนี้ต้องวางแผนรับมือปริมาณน้ำฤดูฝนปีนี้ก่อนในการประเมินปริมาณน้ำทุ่ง น้ำทะเล น้ำฝน มารวบรวมแล้ววิเคราะห์ปริมาณน้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีศูนย์เฉพาะถาวรการบริหารจัดการน้ำ
 
แต่คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นหน่วยงานถาวรในอนาคต ที่มีการรวมหน่วยงานและข้อมูลต่างๆ มาทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ทันฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างต่างๆ ที่จะมีการคงของเดิมไว้แล้วผสมผสานของใหม่เข้าไป พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ และภาคเอกชนของไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์