′ปลอด′ชี้ 2 สัปดาห์-หมอกจาง
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือว่า ในฐานะที่เคยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอกควันมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน 2.การเผานา และ 3.การเผาป่า ซึ่งมีทั้งเพื่อรุกที่และไล่สัตว์ ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ใช่จากการเสียดสีของไม้หรือฟ้าผ่า ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ที่ตัวคน โดยในส่วนของการเผานาต้องทำความเข้าใจกับชาวนา ส่วนการเผาป่าจำเป็นต้องปิดป่า เพื่อไม่ให้คนเข้าไป ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนอดทน เพราะสถานการณ์จะคลี่คลายไม่เกิน 2 สัปดาห์ต่อจากนี้
คพ.ยันฝุ่นควันมาจากเพื่อนบ้าน
ที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2554 ว่าสถานการณ์มลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อมประจำปี 2554 มีเหตุร้องเรียน 7,474 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีเล็กน้อย โดยในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เป็นพื้นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด และปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุดคือ มีกลิ่นเหม็น มีฝุ่นละออง เขม่าควันและเสียง โดยทุกเรื่องร้องเรียนจะดำเนินการตามระเบียบ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการ แก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาถือว่ายังมีอุปสรรคอยู่หลายด้าน เช่น การจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน เพราะของเสียส่วนใหญ่ถูกทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป หรือขายให้ผู้รับซื้อของเก่าที่มีการถอดแยก โดยไม่คำนึงถึงการปนเปื้นของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนการบำบัดน้ำเสียมีเพียง 100 แห่งเท่านั้น และยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายวิจารย์กล่าวอีกว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สามารถบ่งชี้ได้ว่ายังมีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอยู่
โดย คพ. ตรวจจุดความร้อนจากดาวเทียมทุกวัน และพบว่าจุดความร้อนยังกระจายตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในเขตของประเทศเพื่อนบ้านด้วย อีกทั้งพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นแอ่งกระทะ หมอกควันจึงไม่แพร่กระจาย ซึ่งในส่วนนี้ต้องแก้ไขวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่ใช้วิธีการเผาอยู่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการทำลายวัชพืชที่ถูกวิธี
กฟผ.สั่งกักน้ำ 2 เขื่อนใหญ่สู้แล้งเดือนเมย.
30 จว.ประสบภัยแล้งหนัก
รายงานข่าวจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 30 จังหวัด 185 อำเภอ 1,271 ตำบล 12,826 หมู่บ้าน ได้แก่ กำแพง เพชร ลำปาง ลำพูน สุโขทัย น่าน พะเยา พิษณุ โลก แพร่ อุตรดิตถ์ เชียงราย เชียงใหม่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ ขอนแก่น อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุดรธานี กาฬสินธุ์ เพชรบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด และปราจีนบุรี โดยภัยแล้งส่งผลกระทบด้านการเกษตร จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย และแพร่ กระทบเกษตรกร 14,567 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 86,830 ไร่ แบ่งเป็นกระทบกับข้าว 17,963 ไร่ พืชไร่ 62,343 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 6,524 ไร่
สั่งกักน้ำ 2 เขื่อนใหญ่
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อากาศร้อนและแห้งแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ที่อุณหภูมิอาจเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จึงมีมติปรับลดปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในส่วนที่เกินความต้องการใช้น้ำลงอีก แล้วค่อยเพิ่มการระบายน้ำให้มากขึ้นในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
นายกิตติกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 8,182 ล้าน ลบ.ม.
ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งไปแล้ว 6,378 ล้านลบ.ม. โดยปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 43 ล้านลบ.ม. เหลือ 39 ล้านลบ.ม. ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 5,770 ล้านลบ.ม. ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งไปแล้ว 4,639 ล้านลบ.ม. และปรับลดการระบายน้ำจากวันละ 21-22 ล้านลบ.ม. เหลือ 20 ล้านลบ.ม.