"ไม่กลับหรอกค่ะ"
คำตอบสั้นๆ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงความเคลื่อนไหวของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีว่าจะกลับ ประเทศไทยปลายปี
ประเมินว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเช่นนี้ทุกปี แต่ปีนี้ดูเหมือนว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะมั่นใจมากขึ้น
เข้าใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณประเมินสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยว่าเริ่มเข้าสู่กระบวนการปรองดอง
หากแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเอาไว้ดีเช่นนั้น
ทั้งนี้ เพราะแม้แนวโน้มปรองดองจะดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะคณะกรรมการหลายชุดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการปรองดองเริ่มมีแนวทางไปในทิศเดียวกัน
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) นำเสนอแนวทางปรองดองด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมในเวลาเปลี่ยนผ่านเข้ามาเยียวยา ขณะที่สถาบันพระปกเกล้า มีข้อเสนอหนึ่งคือการเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมปกติสำหรับผู้ถูกกล่าวหาโดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
แต่กระบวนการทำตามข้อเสนอต่างๆ นั้น กลับต้องใช้เวลามากกว่านี้
และระหว่างดำเนินการต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่ไปล้มกระดานการ ปรองดอง
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์วางเอาไว้มี 3 ข้อ คือ ต้องไม่แตะต้องพระมหากษัตริย์ ต้องไม่แตะต้องศาลและองค์กรอิสระ และต้องไม่ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนี้ เงื่อนไขของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ณ สวนลุมพินี ก็พุ่งเป้าไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เท่ากับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นชนวนสร้างเงื่อนไขล้มกระดานปรองดองได้ง่ายขึ้น
จึงไม่แปลกหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศ ต้องตัดสินใจติดดิสก์เบรก
จับตา..จังหวะก้าวยิ่งลักษณ์ ก้าวพ้นโคลนนิ่งทักษิณ สู่นายกฯหญิงของไทย
และดูเหมือนว่า เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เอ่ยปาก ทุกอย่างจะสงบเงียบ
พรรคประชาธิปัตย์ที่ถือเอาประเด็นการกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นคำถาม เมื่อได้รับคำตอบก็เงียบเสียงลง ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ชูประเด็นนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับไทยก็ขออนุญาต "หยุดพูด"
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ แค่สะท้อนผ่านผู้คนใกล้ชิดที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนที่ฮ่องกงล่าสุดว่า "คนเสื้อแดงก็อยากให้กลับ พรรคเพื่อไทยก็อยากให้กลับ มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ไม่อยากให้ผมกลับ"
นี่จึงเป็นจังหวะก้าวอีกหนึ่งก้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี
ลักษณะเยี่ยงนี้เองที่ต้องกลับมาประเมินนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยใหม่
ณ วันนี้ ครม.ปู 1 กับ ครม.ปู 2 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความแตกต่างกัน
วันนั้นเมื่อการแสวงหา ครม.ปู 1 รัฐมนตรีหลายคนถูกสกัดมิให้รับตำแหน่ง เพราะไม่มั่นใจใน "โคลนนิ่ง" พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เมื่อมาถึง ครม.ปู 2 ผู้มีประสบการณ์และความสามารถหลายคน ตัดสินใจช่วยเหลือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 2 ชุด ทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อจัดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
การที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ตอบรับเป็นประธานเปิดงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีคลาสสิกที่ทำเนียบรัฐบาล
การปรับคณะรัฐมนตรี โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มเป็นผู้กำหนดตัวบุคคล และคัดคนออก ด้วยเหตุผลไร้ผลงานหรือส่อเค้าทุจริต
รวมถึงการออกโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศไทย
ผลจากการเยือนญี่่ปุ่น ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นคงความสนใจลงทุนในไทย และตามมาด้วยนักลงทุนอเมริกันที่ทยอยเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางการลงทุนในไทยเช่นกัน
ล่าสุด กรณีการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปตกปากรับคำประเทศจีนเอาไว้ก่อนรัฐบาล มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้พิจารณาให้ละเอียด
เปิดโอกาสให้ประเทศทางยุโรปและอเมริกัน นำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเข้ามาเทียบเคียงกับข้อเสนอของจีน
การตัดสินใจเช่นนี้ ไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะสะอึกอีกครั้งหรือไม่?
แต่ข่าวที่สะพัดออกมาส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เป็น "โคลนนิ่ง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
จึงน่าจับตามองว่า ก้าวต่อๆ ไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสามารถบริหารราชการแผ่นดิน คือดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ยับยั้งการโกงกินทุจริต เร่งรัดพัฒนาประเทศชาติ ไปได้มากแค่ไหน
และน่าจับตามองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะพี่ชาย จะผลักดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีของไทย หรือยังตีกรอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นแค่น้องสาวคนโปรดของตัวเองเท่านั้น