เวลา 13.30 น. วันที่ 18 มี.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดเสวนา "กองทัพไทยกับประชาธิปไตย" มีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านการทหาร นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย และน.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ร่วมเสวนา
นายสุธาชัยกล่าวว่า กองทัพปัจจุบันยังอยู่ในฐานะที่คุกคามประชาธิปไตยได้เพราะถูกครอบงำด้วยความคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
คืออนุรักษนิยม ทหารกลายเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ การรัฐประหารหลายๆ ครั้ง มักอ้างความจงรักภักดี การรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ละเมิดเบื้องสูง แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ การแก้ไขต้องปฏิรูปความคิด ต้องให้กองทัพคิดแบบประชาธิปไตย ผลักดันให้เป็นกองทัพแบบในอารยประเทศ ส่วนวงจรนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้นตอบได้ยาก
พ.อ.ธีรนันท์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ทหารไม่สามารถดีดตัวจากการเมืองได้ 100 เปอร์เซ็นต์
วันนี้สังคมไทยเหมือนมีชั้นน้ำแข็งหุ้มอยู่ คนที่หุ้มอยู่คือคนยุค 6 ตุลา ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็น จึงมองเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นใหญ่ แต่วันนี้สังคมเปลี่ยน การรบขนาดใหญ่ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก ชุดความคิดควรเปลี่ยนเป็นความมั่นคงของมนุษย์เป็นใหญ่ และกลไกแก้ไขปัญหาควรเป็นภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง ในอดีตการดำเนินกิจการความมั่นคงเหมือนอยู่ในกล่องดำแต่ปัจจุบันทหารต้องเขียนรายงานทุกอย่าง แม้ขณะนี้ยังกระท่อนกระแท่นอยู่แต่ในอนาคตทหารต้องถูกตรวจสอบโดยประชาชนได้ วันนี้ขอให้ประชาชนใช้อำนาจตรวจสอบโดยใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เมื่อใดที่ประชาชนเข้มแข็งทหารก็จะกลับไปยืนในจุดที่ควรจะเป็น
นายวีรพัฒน์กล่าวว่า กองทัพไม่ใช่ปัญหาของระบอบประชาธิปไตย แต่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือ กองทัพทำรัฐประหารเองไม่ได้ แต่ต้องมีอำนาจอันชอบธรรม
ซึ่งก็คืออำนาจขององค์กรตุลาการที่สั่งสมมา คำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ดินรัชดาฯ ตอนหนึ่งระบุว่า คตส.มีความชอบธรรม เพราะการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นการยึดอำนาจประชาธิปไตยโดยให้มีผู้มาใช้อำนาจ แต่ไม่ได้ต้องการล้มล้างกฎหมายของประเทศทั้งระบบ หมายความว่ารัฐประหารทำได้ตราบใดที่ศาลยังมีอำนาจต่อไป ถ้าเรายอมรับว่าการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไม่ใช่การฉีกกฎหมายก็เป็นสิ่งอันตรายมาก ตอนนี้ศาลกำลังเพาะเชื้อบางอย่างเกี่ยวกับการรัฐประหารขึ้นมา ดังนั้น ถ้าอยากแก้ไขปัญหากองทัพแทรกแซงประชาธิปไตย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปฏิรูปความคิดในองค์กรตุลาการด้วย