คำต่อคำ ณัฐวุฒิ พูดถึง นายห้างดูไบ-ปรีดี-ป๋วย

เมื่อเวลา 09.30น. ของวันที่13 มีนาคม พ.ศ.2555 ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เดินขึ้นห้องประชุมชั้น 2 สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว


สื่อมวลชนต่างมาดักรอ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จุดเดิมเช่นเคยทุกวันอังคาร หรือวันที่มีการประชุมครม. เพื่อสัมภาษณ์


และแล้วรถประจำตำแหน่งของ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ก็มาถึง

"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เดินลงจากรถมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ก่อนจะเอ่ยปากทักนักข่าวหลายสิบคนว่า "ผมรู้งานแล้ว"

งานในที่นี้ก็คือ ต้องให้สัมภาษณ์นักข่าวก่อนขึ้นประชุมครม.

เมื่อนักข่าวทุกสำนักพร้อม การสัมภาษณ์จึงเริ่มขึ้นทันที

วันนี้ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" พูดถึงประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกฎหมายปรองดองว่า ในกรณีของกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความปรองดอง มีคนพูดอยู่สองสามกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการปรองดองของสภาฯ หรือกลุ่มอื่นๆ ต้องยอมรับว่าผมยังไม่รู้เนื้อหาสาระหรือรายละเอียดกฎหมายดังกล่าว และเห็นว่าเมื่อยังไม่ทราบรายละเอียด แล้วไปแสดงความเห็นหรือไปวิพากษ์วิจารณ์ ก็เกรงว่าจะสร้างความสับสนให้กับสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก ก็รอดูว่าหากมีการพูดถึงเนื้อหาสาระ มีการอธิบายถึงรายละเอียดก็คงจะมีการแสดงความเห็น


เป็นไปได้หรือไม่ที่ "ทักษิณ" จะได้กลับบ้านเร็วๆ นี้?

ผมไม่ทราบกำหนดเวลา แต่เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ควรจะได้รับโอกาสและความเป็นธรรมจากประเทศไทยในการกลับเข้ามา ท่านเป็นคนไทยคนหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมจะปฏิเสธพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ วันนี้สิ่งที่คิดว่าสังคมไทยต้องหาคำตอบร่วมกันคือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการรัฐประหารที่ผ่านมาใช่หรือไม่ และหากพ.ต.ท. เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการดังกล่าว สังคมนี้ควรจะคืนความยุติธรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่

ผมเห็นว่าถ้าหากบ้านเมืองหนึ่งมีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มิอาจได้รับความเป็นธรรม มิอาจจะมีหลักประกันได้เลยว่าประชาชนคนอื่นๆ จะมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศนี้ ตรงนี้ต่างหากเป็นสาระสำคัญที่เราจะต้องพูดกัน ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ อย่างไร ส่วนตัวแล้วผมอยากให้ท่านกลับมา เป็นแต่เพียงว่าสถานการณ์หรือเงื่อนไขของเวลาก็เป็นเรื่องที่ตัวท่านจะเป็นคนพิจารณาว่าเมื่อไหร่ อย่างไร ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ หรือแสดงความปฏิปักษ์กับพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่แล้ว ตรงกันข้ามผมมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็รอคอยให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมายังประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่อย่างที่เรียนว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ เหตุผล และสถานการณ์ทางการเมืองเวลานั้นด้วย


คำต่อคำ ณัฐวุฒิ พูดถึง นายห้างดูไบ-ปรีดี-ป๋วย

คดีความที่ค้างอยู่ "ทักษิณ" ควรเข้ามาดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่อย่างไร?

ในบริบทนั้น ผมเรียนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ควรได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง ในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นประชาธิปไตยปกติ นี่เป็นหลักการพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ทางการเมืองคงจะเอาความคิดเห็นเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพังไม่ได้ ก็คงจะต้องรอกระบวนการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยมาตลอดเมื่อ 5 - 6 ปีที่ผ่านมา คงจะไปแยกพ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากจากการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ เพราะท่านถือว่าเป็นตัวละครหลักสำคัญที่สุดตัวละครหนึ่งในสถานการณ์นี้ ในที่นี้มีบางคน บางฝ่ายพยายามที่จะอธิบายว่าความขัดแย้งทางการเมืองก็เรื่องหนึ่ง เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ก็เรื่องหนึ่ง แต่ความเห็นของผมว่าไม่ใช่ ผมว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน การจะพิจารณาในเรื่องดังกล่าวก็จะน่ามองในภาพรวมพร้อมๆ กันด้วย

การให้ความยุติธรรมกับคนใดคนหนึ่ง ไม่น่าจะมีกระบวนการสกัดขัดขวาง ยกเว้นว่ากระบวนการเหล่านั้นพร้อมที่จะสร้างประเด็นเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา นั่นก็เรื่องหนึ่ง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ผมก็เคารพ และสามารถทำได้ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ท่านจะชุมนุมแสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติที่ไหน อย่างไรนั้น เป็นเสรีภาพ หากดูจากผลการสำรวจความเห็นของสมาชิกกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เขาแสดงออก ก็ทำให้เราเห็นความชัดเจนอะไรบางอย่าง เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรฯ บอกว่ายังไม่ถึงเวลาชุมนุมใหญ่จนกว่าทหาร ตุลาการ องค์กรผู้มีอำนาจต่างๆ จะเห็นด้วย และก็แสดงความมีส่วนร่วม ตรงนี้ก็ค่อนข้างชัดว่า ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนกลุ่มใดบ้าง และผมเห็นว่าผลการสำรวจความคิดเห็นออกมาแบบนี้ก็จะทำให้กองทัพ ฝ่ายตุลาการต่างๆ ในบ้านเมืองระมัดระวัง รอบคอบ ในการแสดงออกต่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง


การเอา "ทักษิณ" กลับบ้านจะส่งผลต่ออายุรัฐบาลหรือไม่?


ผมเรียนว่าเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ประเด็นหลักคงไม่ได้อยู่ที่เงื่อนไขของเวลา ประเด็นหลักคงอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมืองในภาพรวม และผมยืนยันว่าตัวพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกระทำอย่างร้ายแรงที่สุดคนหนึ่งในจำนวนหลายต่อหลายคนที่เป็นผู้ถูกกระทำและได้รับความเสียหายในเหตุการณ์ถึง 6 ปี แห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา แต่วันนี้ เราบอกว่าทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรม แต่กันพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่นอกวงความเป็นธรรมนี้ ผมก็ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องคิดกันเช่นนั้น นอกจากว่าเป็นความคิดของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ที่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเท่านั้น

ใครจะเป็นเจ้าภาพในงานนี้?

ผมว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เขากำลังพูดคุยกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการของสภาฯ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) องค์กรต่างๆ อย่างที่ผมพูด เราคงไม่ได้แยกว่า เรื่องการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องหนึ่ง มันแยกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสถานการณ์ใหญ่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น กระบวนการในการค้นหาข้อเท็จจริง กระบวนการสร้างความปรองดอง ก็ย่อมจะมีประเด็นของพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นองค์ประกอบที่จะต้องคิดร่วมกัน เหมือนกับความเสียหายของเสื้อแดง ความเสียหายของพันธมิตรฯ ตำรวจ ทหาร ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาทั้งสิ้น


รัฐบาลจะนำ "ทักษิณ" กลับบ้านตามที่หาเสียงเอาไว้

ผมคงไปสรุปอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากรัฐบาลจะดำเนินการสิ่งใดต้องคำนึงถึงผลประโยชน์หลักของประเทศ อย่างที่เรียนว่า เวลานี้หากเราเข้าใจสถานการณ์ตรงกัน เรื่องนี้จะไม่เป็นประเด็นความขัดแย้งเลย แต่เวลาคนเลือกอธิบาย อธิบายแยกส่วน อธิบายว่าปรองดองต้องทำ แต่พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นสถานการณ์หรือเรื่องเดียวกันมาตลอดตั้งแต่ต้น กระบวนการขับไล่ โค่นล้มพ.ต.ท.ทักษิณ จนไปถึงการโค่นล้มรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช แล้วเกิดเหตุการณ์ต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมาเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น หากจะแก้ปัญหานี้ จะต้องบูรณาการการแก้ปัญหาในภาพรวม คิดแยกส่วนไม่ได้ ถ้าประชาชนเข้าใจอย่างนี้ก็จะเห็นความจำเป็นตรงกันว่า เราต้องเปิดใจกว้าง


 

เวลานี้มีคนบางกลุ่มบอกว่า ต้องปิดทางพ.ต.ท.ทักษิณ ทุกกรณี ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ต้องคิดว่า เราต้องพยายามเปิดบ้านเมืองให้ออกจากวิกฤตของความขัดแย้งไปให้ได้ บ้านเมืองนี้ถ้าจะเป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรมให้กับทุกคน ทำไมเราต้องพยายามปฏิเสธ ต้องสร้างความสับสน


เมื่อก้าวไม่พ้น "ทักษิณ" ก็จะไม่เกิดความปรองดอง?


บางคนบางกลุ่มพยายามทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นสุดยอดจักรวาลชีวิต ผมขอใช้คำนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ มีอะไรก็ทักษิณ ทักษิณ ทักษิณ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นของประเทศไทย ถ้าไม่ช่วยกันแก้ไข ไม่ช่วยกันคลี่คลาย สถานการณ์อาจวิกฤตบานปลายเสียหายอย่างที่ผ่านๆ มา เราต้องช่วยกันมองว่าหลายประเทศในโลกมีความรุนแรงกว่านี้ บาดหมางลึกซึ้้ง ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ซึ่งละเอียดอ่อนกว่านี้ เขายังปรองดองกันได้ เพราะทุกคนเปิดใจกว้างและจับมือเดินมาด้วยกัน แล้วประเทศไทยขัดแย้งทางการเมืองหรือผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นด้านหลัก ทำไมบางฝ่ายถึงไม่เปิดใจ แล้วหาหนทางให้กับประเทศ มากกว่าการพยายามปิดหนทางคนที่คิดว่าเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองอย่างเดียว


"ทักษิณ" ถูกกล่าวว่าเป็นผู้ก่อการร้าย?

ต้องเข้าใจว่าคดีความของพ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นคดีความที่เกิดจากอำนาจของคณะปฏิวัติ แล้วคณะปฏิวัติก็ตั้งคณะอย่างคตส. มาทำหน้าที่พนักงานสอบสวน และคตส.หลายคนก็อย่างที่ทราบว่า บทบาททางการเมืองเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้ง และปัจจุบันก็ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมอย่างนั้นเป็นปัญหา ยกตัวอย่าง 1 ใน 4 เหตุผลก็คือ คมช.ยึดอำนาจตอนนั้นบอกว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทุจริตคอร์รัปชั่น แล้วตั้งคตส.ขึ้นมาตรวจสอบว่าทุจริตจริงหรือไม่ คตส.มีหน้าที่อย่างเดียวคือชี้ว่าทุจริต เพราะถ้าสุจริตก็เท่ากับเหตุผลในการยึดอำนาจของคมช.เป็นอันตกไป ก็เท่ากับทำลายความชอบธรรมข้ออ้างของการยึดอำนาจ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่า เมื่อคมช.ยึดอำนาจได้แล้วก็มีผู้รับเหมาแบ่งงานกันทำ รับเหมาร่างรัฐธรรมนูญก็ร่าง รับเหมาจัดการนายกฯ ทักษิณ รับเหมาสืบทอดอำนาจก็ว่ากันไป เขาจึงเรียกว่า มีผู้รับเหมาทำบันได 4 ขั้น ให้กับคมช. ในเวลานั้น


ฉะนั้น สถานการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นจากตรงนั้น มันคนละอย่างกับกระบวนการยุติธรรมปกติ แล้วเราจะยอมให้ระบบของเผด็จการมาสร้างสิ่งที่ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ทางการเมือง แล้วจะต้องรักษาเอาไว้ หรือจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ระบบเผด็จการสร้างถูกคลี่คลายสลายลงด้วยกลไกประชาธิปไตย และให้บ้านเมืองเดินหน้าไปต่อ ผมเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณ แต่บางฝ่ายไม่มีอะไรเลยนอกจากวิญญาณอาฆาตพยาบาท

เวลาไหนหรือสถานการณ์ไหนที่ "ทักษิณ" ควรจะกลับมา?

จากที่เคยทำงานร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ มา หรือจากการที่ได้สนทนากับท่านมาโดยตลอด ผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านต้องการคือให้บ้านเมืองนี้กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ให้บ้านเมืองพบหนทางที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง ผมเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการแบบนี้ แน่นอนว่าความเจ็บปวดก็เป็นเรื่องที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งรู้สึกได้ ต้องการกลับบ้าน กลับคืนสู่ประเทศไทยที่เป็นปกติ แต่เบื้องลึกของหัวใจพ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงอยู่อยู่ใต้ภายใต้จุดยืนตามที่ผมได้

เรียนไป

เพราะฉะนั้น ตัวท่านจะเป็นผู้พิจารณาสถานการณ์ว่าเมื่อไหร่ อย่างไร ถึงจะมีโอกาสได้กลับมา เราเคยมีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองผ่านปรากฎการณ์ที่เจ็บปวดมาแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็นดร.ปรีดี พนมยงค์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเหล่านั้นต้องลาลับไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน หลังจากนั้นลูกหลานก็เคารพนับถือยกย่อง วันนี้สถานการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ผมคิดว่าไม่น่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกันคดีทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็พิเศษกว่าทั้ง 2 ท่าน คือกระบวนการทำลายล้างมันต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีบางกลุ่มทุ่มเททุกสรรพกำลังเพื่อทำลายล้างพ.ต.ท.ทักษิณลงไปให้ได้


เราต้องเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่าท่านทั้ง 2 ไม่สามารถดำรงอยู่ในประเทศไทยได้ ผมเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมที่จะสู้ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าหากว่าบ้านเมืองนี้กลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย และให้ความมั่นใจได้ว่าความเป็นธรรมยังมีกับพ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนกับคนไทยทุกคนที่ควรได้รับ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์