′ยิ่งลักษณ์′ถก ′กนอช.′นัดแรกวันนี้ พิจารณาแก้ท่วม 246 โครงการ วงเงิน 2.48 หมื่นล.ตามที่ ก.คมนาคมชงผ่าน ′กบอ.′
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นัดประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งที่ 1/2555 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในวันที่ 12 มีนาคม
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งที่ 1/2555 วันที่ 12 มีนาคม โดยจะพิจารณารายละเอียดตามที่ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอุทกภัย (กบอ.) เสนอขออนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 246 โครงการ วงเงิน 2.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการพิจารณา ตามโครงการของกระทรวงคมนาคม เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับถนนเป็นคันกั้นน้ำ รวมทั้งการทำทางระบายน้ำ และการขยายสะพาน เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น
"ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอผลการลงพื้นที่สำรวจในการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง 3 ล้านไร่ ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะรายงานแผนการบริหารจัดการน้ำและเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ โดยยึดตามหลักพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) รวมถึง คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คำนึงถึงความสมดุลในการบริหารจัดการน้ำท่วมกับภัยแล้ง" นายเลิศวิโรจน์กล่าว
และว่า การรายงานต่อที่ประชุมจะไม่มีการปรับกฎเกณฑ์กำหนดระดับน้ำสูงสุด-ต่ำสุด ในเขื่อน แต่จะปรับให้มีความสอดคล้องกันของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ เพราะอาจไม่จำเป็นต้องกำหนดระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อรับฤดูฝน ที่จะมาถึงในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะติดตามสภาพอากาศและคำนวณระดับการปล่อยน้ำอย่างใกล้ชิด โดยจะรายงานต่อคณะกรรมการทุก 15 วัน
นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า สำหรับวงเงิน 2.48 หมื่นล้านบาท จะเป็นส่วนของกรมชลประทานในการเตรียมการ ขุด ลอกคลอง และการเสริมแนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริ จำนวน 1.1 พันล้านบาท
′ยิ่งลักษณ์′ ถก ′กนอช.′แก้ท่วมนัดแรกวันนี้ 246 โครงการ วงเงิน2.48หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ 246 โครงการ วงเงิน 2.48 หมื่นล้านบาท ที่ กบอ. เสนอให้ กนอช.พิจารณาได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะ กบอ.เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แบ่งเป็น การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาระยะเร่งด่วน วงเงิน 15,592.92 ล้านบาท ได้แก่ 1.การปรับปรุงแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 8 โครงการ วงเงิน 559.5 ล้านบาท 2.แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกคลองระพีพัฒน์ 41 โครงการ วงเงิน 9,081.20 ล้านบาท 3.ย้ายแนวคันพระราชดำริไปที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ฝั่งใต้ 15 โครงการ วงเงิน 1,964.55 ล้านบาท 4.ซ่อมแซมประตูระบายน้ำ 50 โครงการ วงเงิน 355.30 ล้านบาท 5.ปรับปรุงคลองระบายน้ำใต้คันปิดล้อมพื้นที่ฝั่งตะวันตก 38 โครงการ วงเงิน 136.27 ล้านบาท และ 6.โครงการขุดลอกแม่น้ำและคลองขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 9 โครงการ วงเงิน 3,496 ล้านบาท
การดำเนินการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะเร่งด่วน 9,235.99 ล้านบาท ได้แก่
1.แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตั้งแต่คลองพระยาบันลือ-ปากแม่น้ำเจ้าพระยา 33 โครงการ วงเงิน 2,263.51 ล้านบาท
2.แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระยาบันลือ 8 โครงการ วงเงิน 1,792.90 ล้านบาท
3.แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองพระพิมล 8 โครงการ วงเงิน 626.10 ล้านบาท
4.แนวคันกั้นน้ำด้านใต้ตามคลองมหาสวัสดิ์ 3 โครงการ 1,858.25 ล้านบาท
5.แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกจากคลองพระยาบันลือ ด้านแม่น้ำท่าจีน-ปากแม่น้ำท่าจีน 12 โครงการ 2,542.8 ล้านบาท
6.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองทวีวัฒนา 1 โครงการ วงเงิน 48.14 ล้านบาท
7.ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมพื้นที่ฝั่งตะวันตก 3 โครงการ วงเงิน 10.6 ล้านบาท
8. ซ่อมประตูน้ำ
9.ติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม 17 โครงการ วงเงิน 93.69 ล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีโครงการระยะยาวที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี อีก 3 โครงการ วงเงิน 16,500 บาท ได้แก่
1.จัดทำ Canal Street ถนนพุทธมณฑล สาย 4 วงเงิน 1,500 ล้านบาท
2.จัดทำ Canal Street ถนนพุทธมณฑล สาย 5 วงเงิน 2,500 ล้านบาท
3.ขยายทางยกระดับถนนบรมราชชนนี-จังหวัดนครปฐม ระยะทาง 21 กิโลเมตร จำนวน 12,500 ล้านบาท
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ได้รับข้อมูลมาว่ากระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือไปในหลายจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเปิดช่องให้มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษในกรณีเร่งด่วนได้ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเลือกผู้รับเหมารายใดก็ได้ ฉะนั้นคำสั่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า 1.จะมีการปรับระบบจากการที่ต้องประมูลผ่านระบบอี ออคชั่น ไปเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ 2.มีการโอนอำนาจกลับไปที่หน่วยงานกลาง คนที่ได้ผลประโยชน์คือ ส.ส.ในพื้นที่ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้จัดซื้อหรือจัดจ้างใครก็ได้ เพราะระเบียบเปิดช่องให้หมดแล้ว
"ผมเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตให้กับเงินช่วยเหลืออุทกภัยได้ และจากการศึกษายังพบว่าในแต่ละจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจะได้รับการจัดสรรงบฟื้นฟูในวงเงินที่สูงมาก เช่น จ.ปทุมธานี ได้งบประมาณสูงถึง 1.2 พันล้านบาท"นายชวนนท์กล่าว