"ประสพ บุษราคัม" ประธาน กปพ.ชงแก้ พรก.ฉุกเฉิน ห้ามทหารสลายม็อบ "คณิต" อัด ปคอป.จ่าย 7.75 ล้านไม่เคยถาม คอป.
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ของประธานสภาผู้แทนราษฎร (กปพ.) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะยื่นข้อสรุปการเสนอแก้ไข หรือยกเลิกพระราชบัญญัติ (พรบ.) 191 ฉบับที่ออกในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นกฎหมายที่เกิดจากองค์ประชุมไม่ครบ และเป็นการออกกฎหมายแบบสุกเอาเผากิน ทั้งนี้ หากหน่วยงานรัฐใดมีความจำเป็นที่จะใช้กฎหมายดังกล่าว ก็จะผลักดันให้ออกเป็น พรบ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ส่วนฉบับใดที่ไม่ต้องการใช้แล้วก็จะออกเป็น พรบ.ยกเลิกให้สิ้นผลไป
“นอกจากนี้ในสัปดาห์ถัดไป จะเสนอให้แก้ไข พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยเฉพาะเรื่องการสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากลทั่วโลก เพราะไม่มีประเทศใดใช้ทหารสั่งสลายการชุมนุมเหมือนในประเทศไทย เพราะทหารไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อสลายการชุมนุม แต่ถูกฝึกมาเพื่อฆ่าคน และยังจะเสนอให้ป้องกันไม่ให้รัฐบาลกล่าวหาผู้มาชุมนุมอย่างสงบที่ปราศจากอาวุธว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะพวกเขาไม่ได้ดำเนินการตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1-135/4 รวมทั้งเวลาให้เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมห้ามใช้อาวุธปืน พร้อมทั้งต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการสั่งสลายก่อนและอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา หรือใช้กำลังน้ำฉีด เป็นต้น” นายประสพกล่าว
นายประสพ กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะส่งเรื่องให้รัฐบาล และให้ผู้นำฝ่ายค้านไปพิจารณา หากเห็นด้วยก็ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากไม่เห็นด้วยก็เชื่อว่าตนจะไปขอความร่วมมือกับ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คน ดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวที่กล่าวมาต่อไป
คอป.อัดจ่าย 7.75ล.เอาตัวเลขจากไหน
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวถึงการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผู้เสียชีวิตได้รับเงินกว่า 7.75 ล้านบาท ว่าเรื่องนี้ คอป.ได้เสนอให้รัฐบาลเยียวยาชดเชยเท่านั้น โดยเป็นการทำตามหลักการสากลที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่ง คอป.ไม่ได้คำนวณตัวเลขให้แก่รัฐบาลว่าต้องจ่ายเยียวยาเท่าไร แต่ตัวเลขดังกล่าว คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) เป็นประธาน คำนวณกันเอง ซึ่งควรที่จะมีการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีลักษณะความไม่สงบเหมือนกับประเทศไทยก็คงจะมองเห็นหลักการนี้ด้วย
"ผมไม่ทราบ ปคอป.เอาตัวเลขนี้มาจากไหน ซึ่ง คอป.ก็ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน อีกทั้งไม่ได้ติดต่อมายัง คอป.เลย และทราบอีกครั้งก็เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเรื่องนี้แล้ว" นายคณิตกล่าว
ส่วนในอนาคตจะทำให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เพราะมีการจ่ายเงินเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากหรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะมีปัญหาในอนาคตหรือไม่ แต่หลังจากนี้ก็คงจะไม่ทักท้วงอะไร เพราะเป็นเรื่องของมติ ครม. แต่หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นรัฐบาลก็คงต้องแก้ปัญหาต่อไป แต่ คอป.มีมติแค่ให้เยียวยาเท่านั้น ซึ่งเราได้ส่งรายชื่อผู้เดือดร้อนให้รัฐบาลไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม คนเดือดร้อนแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน บางคนอยากให้ช่วยด้านเศรษฐกิจ บางคนอยากให้ดูแลด้านร่างกาย ก็มีประมาณ 400-500 รายชื่อที่ส่งไป