วานนี้ ( 1 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.15 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) โดยมีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธาน กมธ. เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการหารือ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กมธ.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนได้นำสำเนาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาแจกให้ที่ประชุม กมธ.ดูเป็นองค์ประกอบด้วย แต่นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แย้งว่า ในห้องประชุมไม่ใช่ว่าใครจะเอาเอกสารอะไรมาแจกได้ ต้องดูความเหมาะสมด้วย นายสามารถ จึงสรุปว่า ขอให้นำเอกสารร่างแก้ไขฉบับ นปช.ไปทบทวนทำให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำมาแจกพร้อมกับร่างของประชาชนอีก 2 ฉบับ เพื่อนำมาให้ กมธ.ได้พิจารณาด้วย
จากนั้นนายสามารถได้เปิดโอกาสให้กมธ.แสดงความคิดเห็นถึงกรอบการทำงานของ กมธ.
ปรากฎว่ามี กมธ.ได้อภิปรายเป็นจำนวนมากจนทำให้การประชุมไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะ กมธ.เสียงข้างน้อยในซีกของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่สามารถกระทำได้เพราะมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะให้แก้ไขเพิ่มเติมได้เท่านั้น ไม่ใช่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับผ่านกระบวนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่า ก่อนที่กมธ.จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีอำนาจหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 291 ไม่มีบทบัญญัติให้สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีกระบวนการจากภายนอกว่าเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาในประเด็นนี้แล้ว
ขณะที่ กมธ.ในส่วนของพรรคเพื่อไทยต่างแสดงความคิดเห็นคัดค้านข้อสังเกตของกมธ.พรรคประชาธิปัตย์
โดยนายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน กล่าวว่า แม้ในมาตรา 291 จะไม่ได้กำหนดชัดแต่คิดว่าสามารถดำเนินการได้โดยให้ยึดรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เป็นหลัก คือ ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในอดีตเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เริ่มด้วยการแก้ไขมาตรา 211 ก่อน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ก็ดำเนินการตามครรลองเดียวกัน จึงคิดว่าสามารถดำเนินการได้ไม่ขัดกับกฎหมาย
ทั้งนี้ การประชุมกมธ.เริ่มดุเดือดมากขึ้น เมื่อกมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้กมธ.บัญญัติไว้ในร่างแก้ไขให้ชัดเจนเพิ่มเติมไปว่าห้ามแก้ไขอำนาจตุลาการ
หลังจากมีความเห็นร่วมกันว่าห้ามแก้ไขหมวด 2สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา กล่าวว่า ในเมื่อทีประชุม กมธ.มีความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จึงเห็นว่า กมธ.ควรทำให้หลายข้อสงสัยของสังคมเกิดความชัดเจนทั้งในส่วนขององค์กรอิสระและศาล เพราะสังคมยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ ซึ่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องสถาบันนั้น ถ้าส.ส.ร.มีแนวคิดจะแตะต้อง เชื่อว่าจะมีการยึดอำนาจแน่นอนและส.ส.ร.ถูกจับในข้อหากบฎ แต่ถ้าเป็นหมวดอื่นๆ เช่น ศาล องค์กรอิสระ เราคงไปบังคับอะไร ส.ส.ร.หรือไปห้ามแก้ไขคงไม่ได้ แต่เชื่อว่าส.ส.ร.คงไม่ไปแก้ไขจนกระทบกระบวนการยุติธรรมของศาล เพราะเรื่องนี้ประชาชนให้ความสนใจติดตาม และรัฐบาลคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น ควรให้ส.ส.ร.ทำงานก่อน ถ้าส.ส.ร.ทำอะไรไม่ถูกต้องพวกเขาก็อยู่ไม่ได้
นายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กมธ. สรุปว่า ในการประชุม กมธ.สัปดาห์หน้า จะเริ่มกระบวนการพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตราเริ่มตั้งแต่หลักการและเหตุผล
ควบคู่กับการรอรับคำแปรญัตติของรัฐสภาที่กำหนดไว้ภายใน 30 วัน คือ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-25 มี.ค. ส่วนเรืองการที่ปรึกษากมธ.จากสัดส่วนของภาคประชาชนนั้นจะทำหนังสือถึงตัวแทนประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในการเสนอความคิดเห็น แต่ทั้งนี้จะไม่ตั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานส.ส.ร.2540 และ นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานส.ส.ร.2550 เป็นที่ปรึกษาแต่จะเชิญทั้ง2ท่านมาให้ข้อมูลเสนอความคิดเห็นเป็นครั้งคราวแทน ขณะเดียวกัน ขอให้ทุกฝ่ายให้งดการกล่าวหาด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น เผาบ้านเผาเมือง สั่งฆ่าประชาชน เพราะเรื่องนี้มีคดีความอยู่ในชั้นศาล