นายกฯ ปัดตอบแก้รธน.ยุบศาลไม่แตะหมวดกษัตริย์

นายกฯ ปัดตอบแก้รธน.ยุบศาลไม่แตะหมวดกษัตริย์


นายกรัฐมนตรี ระบุ ไม่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และคงหมวดพระมหากษัตริย์ไว้ พร้อมให้ สภาฯ พิจารณาการเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะไม่ตอบแก้รัฐธรรมนูญยุบศาล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็ก เพื่อรับทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพระราชกำหนดกู้เงิน 2 ฉบับ ก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร เข้าพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภา โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

นายกฯระบุไม่แก้รธน.ทั้งฉบับและคงหมวดพระมหากษัตริย์ไว้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อรับทราบการพิจารณา พระราชกำหนดเงินกู้ 2 ฉบับ ว่าเป็นการประชุมตามระเบียบที่ต้องให้ ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบ เพื่อที่จะนำเสนอรัฐสภาบ่ายนี้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งนั้น ยืนยัน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแก้ไข มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่จะเข้ามาพิจารณาเนื้อหาสาระทั้งหมด ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และต้องคงไว้ในหมวดของ สถาบันพระมหากษัตริย์  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า การเพิ่มสัดส่วน สสร. จากเดิม 99 คน เป็น 150 คน นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภา

ศาลปค.แถลงยุบองค์กรศาลอยู่ที่สสร.ขอให้ยึดปชช.

นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง กล่าวชี้แจงกรณีมีผู้ออกมาแสดงความเห็นว่า ควรยุบศาลปกครอง ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ว่า ข่าวที่ออกมาเป็นเพียงความเห็นในเรื่องของอนาคต ซึ่งการแก้ไขต้องมีรายละเอียดและเหตุผลที่ชัดเจน ว่า การแก้ไขมีที่มาอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์อะไร และระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ศาลปกครอง มีคดีจำนวนมากที่พิจารณาไปแล้วกว่า 70,000 คดี ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ทั้งนี้ ศาลปกครองไม่เคยพิจารณาคดีเกินขอบเขตอำนาจที่มี และมีกลไกในการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการรับเรื่องเข้ามา โดยศาลปกครอง เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อเป็นการสร้างความยุติธรรมทางปกครอง หากมีการยุบรวมกับศาลฎีกา เท่ากับว่ากระบวนการยุติธรรมถูกรวมกันเหมือนเดิม

ขณะที่ นางสายทิพย์ สุคติพันธ์ รองโฆษกศาลปกครอง ระบุว่า คดีของศาลปกครอง เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไป กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ หากมีการยุบศาลปกครอง อาจเกิดข้อขัดข้องขึ้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมา ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์