เครือข่ายพลเมืองฯเตรียมรวบรวมรายชื่อยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว.รับร่างแก้ไข รธน.
เครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินเตรียมรวมรวมรายชื่อประชาชนยื่นถอดถอนกลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่มีมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขณะที่การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่สอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต ส.ว.เลือกตั้ง ที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมกัน 3 ฉบับ บรรยากาศการอภิปรายวันนี้ยังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแก้ไขที่ให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย และ ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขที่ชี้ว่าการให้ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงกระแสข่าวการต่อรองผลประโยชน์ของการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ และมุ่งประเด็นไปที่ ส.ว.เลือกตั้ง ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ว.เลือกตั้งบางคนไม่พอใจลุกขึ้นประท้วงและขอให้ถอนคำพูด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวหา ทำให้วุฒิสภาได้รับความเสียหาย
ในช่วงหนึ่งของการประชุมมีความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการตอบโต้กันระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับ นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.พรรรคเพื่อไทย ที่นำเรื่องเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มาอภิปรายนอกกรอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการประท้วงตามมาจากฝ่ายค้านและรัฐบาล จนในที่สุดประธานในที่ประชุมต้องสั่งพักการประชุม เพื่อยุติการโต้เถียง
ขณะที่นายโคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวคิดแก้รัฐธรรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎรให้จำนวน ส.ส.ร. อยู่ที่ 150-200 คน และ ห้าม ส.ส.ร. ลงสมัคร ส.ส.และ ส.ว.ภายใน 5 ปี เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางไปสู่อำนาจทางการเมือง และเพิ่มกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญจาก 180 วัน เป็น 365 วัน เพื่อทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น
นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน เปิดเผยถึงการรวมรวมรายชื่อประชาขน 20,000 รายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนกลุ่ม ส.ส. และ ส.ว.ที่ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีการการลงมติที่ขัดกับมาตรา 291 ที่ให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาสามารถแก้ไขได้เองทั้ง 308 มาตรา แต่กลับใช้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
สำหรับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะใช้วิธีการลงคะแนนรวดเดียว 3 ร่าง แบบขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งคาดว่าจะลงมติแล้วเสร็จหลังเวลา 24.00 น.และหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 45 คน แบ่งเป็นวุฒิสภา 10 คน พรรคเพื่อไทย 19 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล พรรคละ 1 คน โดยคาดว่าที่ประชุมจะมีมติยึดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณาของกรรมาธิการ