เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 3 ฉบับ โดยไม่รอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของภาคประชาชน ว่าเจนตนารมของภาคประชาชน ส.ส. และรัฐบาล มีเจตนารมที่ตรงกันว่าเห็นควรที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาดำเนินการยกร่องรัฐธรรมนูญ โดยผ่านกระบวนการทำประชามติของประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อเจตนารมตรงกันเช่นนี้ ก็ถือว่าประชาชนที่เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีส่วนร่วมในการประกาศจุดยืนและแสดงเจตนารมในการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ถ้าหากว่าสาระสำคัญของร่างทั้ง 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความแตกต่างกันถึงจะเป็นประเด็นที่จะต้องรอให้ครบทุกฉบับแล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณา แต่นี่สาระสำคัญเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามอภิปรายกล่าวหาว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นที่ไม่รอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนนั้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์พยายามปิดบังวาระซ่อนเร้นของตัวเอง แต่ว่าซ่อนเอาไว้ไม่ได้ การพยายามอธิบายว่าต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฟังดูแล้วเหมือนจะดี แต่พอออกจากปากพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นชัดทันทีว่าไม่ได้มีความจริงใจต่อประเด็นดังกล่าว เพราะจุดยืนที่แท้จริงของพรรคประชาธิปัตย์คือ ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นต่างจากกลุ่มประชาชนที่เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด เมื่อถึงเวลาก็หาโอกาสตีรวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำลายความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาปกป้องความต้องการของประชาชนเหล่านั้นเป็นเกมที่ต้องการล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องเหล่านั้นคนเขารู้ทัน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาออกมาระบุว่ามีความพยายามล็อบบี้ ส.ว.ในการลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่าตนไม่ทราบว่าใครล็อบบี้ใคร เพราะว่าการลงมติรับร่างฯ ตนมั่นใจว่าฝ่ายที่เห็นด้วยเขาแสดงตัวตนชัดเจนเปิดเผยมาโดยตลอด แต่ในขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยพยายามจับมือรวมตัวกันในที่ลับ แล้วสลับบทบาทกันออกมาแสดง ทั้งพรรคการเมือง ส.ว.สรรหาและกลุ่มมวลชนนอกสภา ซึ่งจริงๆต้องดูว่าฝ่ายที่ตกลงจะไม่รับมีการล็อบบี้กันหรือไม่ มีการตกลงวางแผนร่วมกันอะไรหรือไม่ มีความพยายามที่ต้องการให้เกมในสภาปั่นป่วน เพื่อสร้างโอกาสให้กับเกมนอกสภา หรือกระทั่งอำนาจนอกระบบออกมาเคลื่อนไหวอีกหรือไม่ เพราะตนยังไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องถึงขนาดมาล็อบบี้เพื่อแลกผลประโยชน์กับการให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมานายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.สรรหาเคยศึกษาเรื่องความสมานฉันท์และยังเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เพราะฉะนั้นก็มีกลุ่มที่ชัดเจนกับการแก้ไขมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ