เมื่อวันที่ 20 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ
โดยเมื่อเวลา 15.30 น.ตามเวลาท้องถิ่นของมาเลเซีย ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีได้หารือข้อราชการเต็มคณะ กับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จากนั้นได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงว่า ไทยพร้อมร่วมมือกับมาเลเซีย ทั้งระดับทวิภาคี และระดับอาเซียน และประสานความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศ พร้อมกับยืนยันความพร้อมในการเป็นการเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการร่วมไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 12 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือให้มีความก้าวหน้า และเร่งสรุปร่างความตกลงต่างๆ ที่ค้างอยู่ อาทิ ร่างความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดน และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน
และความกินดีอยู่ดีในพื้นที่ภาคใต้ กับรัฐทางตอนเหนือและตะวันออกของมาเลเซีย ในกรอบคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ ชายแดนไทย-มาเลเซีย (เจดีเอส) ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย โดยจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง ที่ อ.สุไหงโก-ลก และ อ.ตากใบ และสนับสนุนมาเลเซียในข้อเสนอที่จะส่งเสริมธุรกิจและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ ใน 6 สาขาสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ ยางพารา น้ำตาล ข้าว และการท่องเที่ยว
“ไทยและมาเลเซีย ยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาล ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากไทยมีจุดแข็งด้านฐานอุตสาหกรรมการเกษตร และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ฮาราล ขณะที่มาเลเซียได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานสากล จึงจะมีการจับคู่ธุรกิจเอสเอ็มอี ระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับจังหวัดทางเหนือของมาเลเซีย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียสนับสนุนการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างสันติ
และไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งการก่อเหตุและการปราบปราม สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย มีความจงรักภักดี และเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ และหากเป็นไปได้ ต้องการให้รัฐบาลเข้าใจความรู้สึกของคนในพื้นที่ โดยส่งเสริมบทบาทด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมให้มากขึ้น รวมถึงให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และรัฐบาลต้องยึดหลักความไว้เนื้อเชื่อใจด้วย ยืนยันว่ามาเลเซียไม่สนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย แต่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และสนับสนุนให้ประชาชนของ 2 ประเทศ ไปมาหาสู่กันได้สะดวก ด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม แต่จะต้องมีการแก้ปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ โดยใช้การพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ถือสัญชาติเดียว