วันที่ 20 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวก่อการร้ายในประเทศไทย สืบเนื่องจากการจับกุมชาวอิหร่าน ที่เข้ามาเตรียมก่อเหตุในประเทศไทย ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ฐานก่อการร้าย และเราไม่ยอมให้ใครมาก่อการร้าย ทั้งนี้ ตนสามารถคุมสถานการณ์ได้ และจะทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กับอิหร่าน ซึ่งผู้นำจิตวิญญาณของฮิซบอลเลาะห์ปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้ก่อเหตุ ส่วนชาวอิหร่านที่จับกุมได้นั้น ประกอบระเบิดแล้วเกิดระเบิดขึ้นในบ้าน และโยนใส่แท็กซี่ รวมถึงทำตกเองจนขาขาด ไม่ได้ใช้ก่อวินาศกรรม แต่เราต้องวิเคราะห์และหาข้อมูลประกอบว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งในวันนี้ตนได้เชิญพล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ผบก.ทท. และผบช.ส. ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บช.ตชด. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาวิเคราะห์กันว่าจากนี้ต่อไป สถานที่ที่มีชาวตะวันออกกลางเข้าพัก เช่น โรงแรม อพาร์ทเม้นต์ บ้านพัก ต้องรีบรายงานตำรวจ สน.ท้องที่นั้นๆ และตำรวจท่องเที่ยวต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ
เมื่อถามว่าปัญหาของไทยคือการให้วีซ่าปลายทางในการเข้าประเทศ ทำให้สามารถเข้า-ออกได้ง่าย และยังหาวัตถุประกอบระเบิดได้ง่าย
รองนายกฯ กล่าวว่า ตนจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมา 2 ปี 7 เดือน รัฐบาลชุดที่แล้วไม่ทำอะไร “ตำรวจต้องบูรณาการกำลังและการข่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการป้องกัน ต้องยอมรับว่าอิหร่าน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา เขาทะเลาะกันมานานแล้ว ทำไมเมืองไทยต้องไปทะเลาะกับเขา เราไม่ใช่ศัตรู เราต้องระมัดระวังป้องกัน ทำให้บ้านเราปลอดจากการก่อการร้าย ปลอดจากการเป็นฐานที่ตั้ง ซึ่งที่ผ่านมามันไม่มี และตนเชื่อว่าสามารถทำได้ ”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (เอฟเอทีเอฟ) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ประกาศให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะมีความเสี่ยงในการฟอกเงินและสนับสนุนการเงินก่อการร้าย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เกี่ยวกับพ.ร.บ.ฟอกเงิน และพ.ร.บ.ยึดทรัพย์สินปราบปราบผู้ก่อการร้าย ว่า องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่ปรึกษาของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ไม่ใช่เทวดาที่จะมาสั่งเรา ทั้งนี้ ตนศึกษาเรื่องมาตลอด โดยการจะออกกฎหมายใดต้องคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมของกฎหมายไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เคยเสนอเรื่องนี้มาแล้ว แต่ตนบอกเลขาฯปปง.ไปแล้วว่าไม่ได้ แค่เตรียมการจะทำก็ถือว่าความผิดสำเร็จ และถ้าไปมีอำนาจเหนือศาล ตนไม่เห็นด้วย มีอำนาจไปยึดทรัพย์สินในธนาคาร และหรือมีอำนาจอื่นๆอีกมา จะทำเพื่อเอาใจเอฟเอทีเอฟไม่ได้ ซึ่งตนพร้อมจะชี้แจงทุกเวที เพราะกฎหมายเมื่อออกมาแล้ว ต้องใช้ในเมืองไทยด้วย ฉะนั้น ถ้าจะออกกฎหมาย 2 ฉบับ ต้องแก้กฎหมายก่อการร้ายในเมืองไทยก่อน ถ้าไปแก้ฉบับที่เขาเรียกร้องก่อนที่จะมีการชุมนุม คนในเมืองไทยก็ถูกยึดทรัพย์กันหมด
ต่อข้อถามว่าภาคเอกชนสะท้อนว่าการที่มีประกาศเช่นนี้ มีผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เจตนาที่เขาต้องการจะให้ออกกฎหมายนั้น เป็นการออกสำหรับประเทศที่เป็นฐานที่ตั้งสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือประเทศที่มีการก่อก่ารร้าย แต่ประเทศไทยไม่มี ดังนั้นการที่เขาเตือนประเทศเราจึงเป็นแค่สีเทา เมื่อถามว่าแสดงว่ากฎหมายการฟอกเงินที่บังคับใช้ในบ้านเรา กำหนดโทษไว้เหมาะสมแล้ว รองนายกฯ กล่าวว่า เหมาะสมสำหรับสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135 /1-4 ใหม่ เกี่ยวกับเรื่องก่อการร้ายในบ้านเรา ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ง.จะมาพบตน และตนจะอธิบายให้ฟัง