น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ว่า หลังจาก กยน. ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนแม่บท ของการบริหารทรัพยากรน้ำ สิ่งสำคัญคือน้ำต้องมีที่อยู่ น้ำต้องมีที่ไป ประชาชนต้องได้รับการดูแลพื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจทั้งระดับจังหวัดและประเทศ ต้องได้รับการป้องกันพื้นที่เกษตรกรรมทุ่งรับน้ำ หรือ แก้มลิงที่อยู่นอกพื้นที่ป้องกัน รวมทั้งที่นำมาใช้ผันน้ำหลาก จะต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ซึ่งในปีนี้คาดการณ์ ว่า จะมีน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ โดยเฉพาะ 2 เขื่อน ในเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ ที่มีการปรับระดับภายในเขื่อนให้เหลือ 45 % จะทำให้สามารถรองรับน้ำได้ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำที่เหลือจะบริหารจัดการในพื้นที่แก้มลิง โดยภาคกลางตอนล่าง หาพื้นที่รับน้ำได้แล้ว 1.5 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่กลางน้ำ จะสามารถรับน้ำได้ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำรวจจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม โดยจะสรุปผลสิ้นเดือนนี้ อีกครั้ง
ส่วนพื้นที่ปลายน้ำจะเสริมแนวคันดินที่มีอยู่แล้วเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรม ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ปรับปรุงพื้นที่ถนน ให้เป็นแนวคันกั้นน้ำและไว้ใช้ในการขนส่งในขณะเกิดอุทกภัย พร้อมกันนี้ ได้พิจารณาแผนการจัดการน้ำเพิ่มเติมอีก 117 โครงการ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเตรียมเสนอเข้า ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า