หมายเหตุ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมประชุมการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเนื้อหาสาระพูดถึงแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ 10 จังหวัดต้นน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 10 แห่ง รวมกับ จ.พิษณุโลก เข้าร่วม ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และพะเยา ที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมอมรินทร์ ลากูน อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์
จากนั้น นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้แถลงผลการประชุมร่วมดังกล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
การแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ต้นน้ำ ในช่วงระยะเวลาเร่งด่วนสำหรับเขื่อนสำคัญ 2 แห่งทางภาคเหนือ ทั้งเขื่อนภูมิพล (จ.ตาก) และเขื่อนสิริกิติ์ (จ.อุตรดิตถ์) จะให้เร่งระบายน้ำจากที่มีอยู่ 65% เหลือเพียง 45% ภายใน 3 เดือน โดยเขื่อนภูมิพลที่เคยมีน้ำถึง 100% หรือปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมด 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะระบายให้เหลือเพียง 6,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีปริมาณน้ำในเขื่อน 9,500 ล้าน ลบ.ม. จะระบายน้ำให้เหลือ 4,200 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมขีดความสามารถของเขื่อนทั้ง 2 แห่ง จะมีพื้นที่รองรับน้ำรวมกัน 12,800 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ได้วางมาตรการ มีแผนการชะลอน้ำ ปลูกป่า ปลูกหญ้าแฝก ควบคู่กับการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มศักยภาพพื้นที่การรองรับน้ำ ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รับผิดชอบ และการปรับปรุงแหล่งน้ำ ได้ให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพ
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
เลขานุการ กยน.
ผลการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานกลุ่ม 10 จังหวัดต้นน้ำ ที่สำคัญมีดังนี้ เรื่องป่าต้นน้ำได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เตรียมฟื้นฟูปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำใน 4 ลุ่มแม่น้ำหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และ 10 จังหวัดต้นน้ำ โดยดำเนินการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หรือจนถึงเดือนเมษายน 2555 ส่วนระบบการพยากรณ์เตือนภัย มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับผิดชอบดูแลข้อมูลระบบพยากรณ์น้ำทั้งหมดให้อยู่ในจุดเดียวกัน แบ่งเป็นสถานการณ์น้ำและระบบเตือนภัย ที่ต้องมีศูนย์ข้อมูลจัดการน้ำแห่งชาติเป็นผู้รวบรวมและแจ้งเตือนภัยเพียงแห่งเดียว โดยมีการรวบรวมสถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนภัยผ่านสื่อต่างๆ อาทิ โซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้คณะทำงานกลุ่มจังหวัดต้นน้ำ 10 จังหวัด จัดการแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำให้สอดคล้องกับแผนของ กยน. ที่ กยน.มีแผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน 6 มาตรการ และแผนระยะยาว 8 มาตรการ ซึ่งในที่ประชุม 10 จังหวัดต้นน้ำ ได้ผลสรุปเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการตามแผนด้วยวงเงิน 49,200 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนระยะเร่งด่วน 580 โครงการ วงเงิน 10,700 ล้านบาท และแผนระยะยั่งยืน หรือระยะยาวอีก 1,900 โครงการ วงเงิน 38,500 ล้านบาท ซึ่งแผนระยะเร่งด่วนต้องดำเนินการให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้ หรือถ้าไม่เสร็จต้องดำเนินการต่อเนื่องไป
นายกรัฐมนตรียังกำชับที่ประชุมคณะทำงาน 10 จังหวัดต้นน้ำ เร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกหญ้าแฝก ให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน เพื่อเตรียมช่วยเหลือน้ำท่วมให้ทำกันอย่างต่อเนื่องไปอีกจนถึงเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ให้มีการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบลุ่มน้ำร่วมกัน อาทิ ลุ่มน้ำยม ที่ต้องบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่จังหวัดต้นน้ำลงมา ได้แก่ พะเยา แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่นายกรัฐมนตรีประชุมร่วมกับคณะทำงาน 10 จังหวัดต้นน้ำแล้ว ยังให้คณะทำงาน 10 จังหวัดต้นน้ำประชุมในการดำเนินงานแผนการต่อด้วย
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง
รองโฆษกกองทัพบก
กองทัพบก (ทบ.) ได้เตรียมแผนการปฏิบัติใน 3 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ต้นน้ำ เน้นการเพิ่มความชุ่มชื้นของผืนดิน ช่วยชะลอการไหลของน้ำและคงความสมดุลของป่าต้นน้ำ โดยจัดทำโครงการ "ฟื้นฟูป่าต้นน้ำเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และ 84 พรรษา" เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2555-2559 ระยะเวลาโครงการ 5 ปี เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าต้นน้ำ และพัฒนาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทบ.จะดำเนินการปลูกป่าต้นน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ การป้องกันและสกัดกั้นมิให้มีการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนโครงการปลูกป่าของรัฐบาลตามแนวพระราชดำริ และการปลูกป่าในลักษณะของ "ดอยตุงโมเดล" ควบคู่ไปด้วย
สำหรับพื้นที่กลางน้ำ จะมีการเตรียมกำลังหน่วยทหารช่าง พร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ในการพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบโครงสร้างของการชลประทาน ตามที่ได้รับการร้องขอ ส่วนในพื้นที่ปลายน้ำ ได้มอบให้หน่วยทหารช่าง จากกรมการทหารช่าง กองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 เข้าสนับสนุนการขุดลอกคูคลองใน "โครงการฟื้นฟูขุดลอกคลอง ลำราง และท่อระบายน้ำในพื้นที่ประสบภัย" ตามนโยบายของรัฐบาล โดยความร่วมมือกับ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการเคลื่อนย้ายเครื่องมือช่างไปยังพื้นที่ปฏิบัติงาน ในขั้นต้นจะขุดลอกคลองใน 26 เขตของ กทม. มีการแบ่งมอบพื้นที่ให้หน่วยทหารช่างดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยกองทัพภาคที่ 1 ดำเนินการขุดลอกคลองพื้นที่ภาคกลางของ กทม. กองทัพภาคที่ 2 ขุดลอกคลองพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม., กองทัพภาคที่ 3 ขุดลอกคลองพื้นที่ด้านเหนือของ กทม. และกรมการทหารช่างขุดลอกคลองพื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.
กรมชลประทาน
กรมชลประทานได้ออกแถลงการณ์ความคืบหน้าการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ว่า กำลังเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนมีความคืบหน้าไปกว่าแผนมาก ทั้งนี้ จะเร่งให้เสร็จทันฤดูน้ำหลากที่จะมาถึง ซึ่งการดำเนินงานประกอบด้วย 4 งานหลัก วงเงิน 92 ล้านบาท ได้แก่ 1.งานซ่อมแซมสะพานข้ามประตูระบายน้ำบางโฉมศรี และฝายน้ำล้นข้างประตูระบายน้ำ มีความก้าวหน้ากว่า 35% เร็วกว่าแผน คิดเป็น 19% 2.งานซ่อมแซมช่องขาดของคันกั้นน้ำข้างประตูระบายน้ำบางโฉมศรี หรือคันคลองชัยนาท-อยุธยาฝั่งขวา มีความก้าวหน้ากว่า 62% เร็วกว่าแผน 27% 3.งานซ่อมแซมท้ายไซฟอนบางโฉมศรี ก้าวหน้ากว่า 81% เร็วกว่าแผน 24% และ 4.งานซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งบางโฉมศรีทั้ง 2 ฝั่ง ก้าวหน้ากว่า 16%
นอกจากนี้ กรมชลประทานจะเร่งเรัดก่อสร้างไซฟอนระบายน้ำบางโฉมศรีพร้อมสร้างสถานีสูบน้ำขึ้นใหม่ ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีศักยภาพและมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้นในปี 2555-2556 โดยการไซฟอนดังกล่าวจะทำหน้าที่ระบายน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานบริเวณทุ่งเชียงรากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้สูงสุด 120 ลบ.ม.ต่อวินาที และสถานีสูบน้ำมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบหัวจุ่ม (SUBMERSIBLE PUMP) ขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง เพื่อสูบระบายน้ำจากทุ่งเชียงรากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555