ส่วนเรื่องของการพร่องน้ำจากเขื่อน ก็ได้มีการหารือกำหนดอย่างชัดเจนว่า ในเดือน ม.ค. - มี.ค. พร่องมากหน่อย
ประมาณ 1,500 - 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วน เม.ย. - มิ.ย. ทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้มีการพร่องน้ำลดลง แต่ก็ได้มีการคุยสรุปกันแล้ว จะพร่องน้ำเท่าเดิม แต่ต้องประเมินจากสภาพความเป็นจริง ว่าขาดแคลนน้ำหรือไม่ รวมถึงการทำการเกษตรด้วย
ขณะที่เรื่องของการเตือนภัย ให้กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนเกี่ยวกับเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนมากน้อย ตามปกติ
แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือต้องอพยพ ให้ศูนย์เตือนภัยฯ เป็นผู้แจ้งเตือน แต่ขั้นตอนการทำงานตามแผนต่างๆ อาจจะมีล่าช้าบ้าง เพราะจะต้องมีขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ยืนยันทิ้งท้ายว่า ในการประชุม กยน. นั้น ไม่มีความแตกแยก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะมาจากความน้อยใจของผู้ใหญ่บางคน
เพราะอาจจะมีช่องว่างระหว่างวัยในการทำงาน เนื่องจากใน กยน. ทั้งหมด มีกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ จากฝ่ายการเมืองและนักวิชาการ และยังมีช่วงวัยที่ต่างกัน แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจ อย่าใจน้อย ช่วยกันทำงานเพื่อชาติ