อ่าน ยิ่งลักษณ์ 3 ผ่านกลุ่มธุรกิจ การเมือง มองเห็น พลวัต
ระหว่าง กลุ่มธุรกิจ กับ กลุ่มการเมือง ความสามารถในการปรับตัวต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลุ่มธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากกว่า
คำตอบนี้วัดได้จากท่าทีต่อการปรับ ครม.ของรัฐบาล ปู 2
ขณะที่ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่า นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังแสดงความเห็นในลักษณะอันเรียกได้อย่างรวบรัดว่า
"แผ่นเสียงตกร่อง"
นั่นก็คือ ตั้งข้อสงสัยต่อการตัด นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ออกจากกระทรวงการคลัง ตั้งข้อสงสัยต่อการตัด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ออกจากกระทรวงพลังงาน
พร้อมกับไม่แน่ใจในความต่อเนื่องของนโยบาย
ตรงกันข้าม กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างไม่สงสัยอีกแล้วในความต่อเนื่องของนโยบาย
ไม่ว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หรือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จะอยู่กระทรวงการคลัง
ไม่ว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือ นายบุญทรง เตยาภิรมย์ จะอยู่กระทรวงพาณิชย์
ไม่ว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ หรือ นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ จะอยู่กระทรวงพลังงาน
เพราะว่ากลุ่มธุรกิจมองทะลุแล้วว่า "คลังความคิด" หรือ "ทิงค์ แท็งค์" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นใคร
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก่อน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย
ทุกคนรับรู้ในสโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" มาแล้วเป็นอย่างดี
การแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 จึงเสมอเป็นเพียงการแปรนามธรรมแห่ง "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" ออกมาเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน เมื่อปรากฏรายละเอียดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) โดยมี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ผ่าน ครม.ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554
แม้กระทั่งสมาชิกวุฒิสภาระดับ นายคำนูญ สิทธิสมาน ก็รับรู้ว่านี่แหละคือ "ตัวจริง"
ไม่ว่าจะเป็น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ไม่ว่าจะเป็น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ไม่ว่าจะเป็น นายวิษณุ เครืองาม ไม่ว่าจะเป็น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เมื่อประสานเข้ากับ นายนิพัทธ พุกกณะสุต ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
ยิ่งประจักษ์ในความเป็น "ดรีมทีม" ทางเศรษฐกิจ ทางการบริหาร ซึ่งพร้อมจะช่วยคิดช่วยดำเนินการให้กับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อย่าได้แปลกใจหากว่าพิมพ์เขียวแรกที่ กยอ.เสนอและได้รับความเห็นชอบจาก ครม. คือ การออก พ.ร.ก. 4 ฉบับอันนำไปสู่
1 การโยกหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปอยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย
เป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะลงประมาณร้อยละ 10
1 การจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศจำนวน 3.5 แสนล้านบาท 1 การจัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท 1 การกำหนดนโยบายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่
เพียงเท่านี้ดูเหมือนจะยังไม่พอ
ข้อเสนอล่าสุดจากประธาน กยอ.คือ การผลักดันให้กองทุนวายุภักษ์ไปซื้อหุ้น ปตท.และการบินไทยแห่งละร้อยละ 2 เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังให้เหลือเพียงร้อยละ 49 อันจะส่งผลให้ ปตท.และการบินไทยพ้นจากสถานะแห่งรัฐวิสาหกิจไปโดยอัตโนมัติ
และหนี้สาธารณะก็จะลดสัดส่วนลงได้อีกประมาณร้อยละ 10
เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปถามทำไมถึงความต่อเนื่องของแนวทางสร้างอนาคตประเทศ เพราะการประสานระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ กยอ. และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เด่นชัดยิ่ง
เด่นชัดยิ่งในความเป็นเอกภาพ เด่นชัดยิ่งในจังหวะก้าวเดียวกัน
เพียง 6 เดือน กลุ่มธุรกิจก็เข้าใจความเป็นจริงและก้าวล้ำกลุ่มการเมืองไปได้หลายบาทก้าว
เพราะว่ากลุ่มธุรกิจมีเป้าหมายอันเด่นชัด คือ ต้องการความสะดวกราบรื่นในการบริหารจัดการ ต้องการประสิทธิผลคือกำไรจากการบริหารจัดการทั้งของตนและจากรัฐบาลอย่างเป็นจริง
ขณะที่กลุ่มการเมืองยากยิ่งที่จะยอมรับในความเป็นจริงทั้งหมดนี้ได้อย่างสุขใจ