ขึ้นราคาพลังงานยกพวง เบนซิน-ดีเซล-ก๊าซ อั้งเปาจากใจรัฐบาลปู

ดูเหมือนการบริหารจัดการด้านนโยบายพลังงานของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะส่ออาการเป๋ และถูกต่อว่าจากประชาชนทั่วไปมากกว่าที่จะได้รับเสียงสนับสนุนชื่นชม

ทั้งประชาชนที่เป็นแฟนคลับที่ชื่นชอบนโยบายประชานิยม และแฟนคลับที่เลือกรัฐบาลชุดนี้เข้ามา เพราะมีมาตรการลดแลกแจกแถมเป็นจำนวนมาก...

เพราะในวันนี้ (16 มกราคม 2555) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ฤกษ์เริ่มปฏิบัติการรีดเงินจากกระเป๋าประชาชนผู้ใช้พลังงานดังกล่าว เพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ด้วยการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร และกลุ่มน้ำมันเบนซินอีก 1 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อนำเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมัน หลังจากที่หยุดเก็บไประยะเวลาหนึ่ง เพราะได้รับปากกับประชาชนที่จะดูแลเรื่องปากท้องในระหว่างการหาเสียงครั้งที่ผ่านมา

ส่วนการเก็บเงินดังกล่าวจะนานแค่ไหนนั้น รัฐบาลจะพิจารณาอีกครั้ง!!

ขณะเดียวกัน ในส่วนของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ก็ได้ปรับขึ้นในอัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ปรับขึ้นอีกอัตรา 75 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือนไปจนถึงเดือนธันวาคม 2555

ปฏิบัติการรีดเงินดังกล่าว หากมองในภาพการบริหารราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุน ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะจะทำให้ประชาชนผู้ใช้พลังงานทั้งหลาย ได้รับรู้ว่าราคาพลังงานที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร!

แต่หากมองย่างก้าวของนโยบาย นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 จะพบว่ารัฐบาลเองที่เป็นผู้ทำให้คนไทยเคยชินกับการบริโภคพลังงานในราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าความเป็นจริง ด้วยการกดราคาพลังงานให้ต่ำลง ด้วยข้ออ้างว่าเป็นการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดที่จะต้องกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนก็ไม่ได้เห็นด้วยง่ายๆ กับการดำเนินการดังกล่าว สุดท้ายเมื่อถึงเวลาปรับขึ้น รัฐบาลก็ต้องตามแก้ปัญหาในสิ่งที่ตัวเองได้ดำเนินการไปแล้ว

ขึ้นราคาพลังงานยกพวง เบนซิน-ดีเซล-ก๊าซ อั้งเปาจากใจรัฐบาลปู

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา การที่รัฐบาลดำเนินการแทรกแซงราคาพลังงาน โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางการตลาด เริ่มจากการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากน้ำมัน 3 ชนิด คือ น้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 7.17 บาท เบนซิน 95 ลิตรละ 8.02 บาท และดีเซลลิตรละ 3.00 บาท ทันทีที่เข้ารับไม้ต่อบริหารประเทศ โดยมีผลวันที่ 27 สิงหาคม 2554 ส่งผลให้เมื่อมีการปรับลดทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลงมาอยู่ที่ 34.77 บาทต่อลิตร เบนซิน 95 ลงมาอยู่ที่ 39.32 บาทต่อลิตร และดีเซลลงมาอยู่ที่ 26.99 บาทต่อลิตร

ซึ่งการดำเนินการในครั้งนั้นถูกคัดค้านจากผู้ค้าน้ำมัน นักวิชาการ เพราะจะทำให้ประชาชนหันไปใช้เบนซินสูตรปกติมากกว่าที่จะใช้แก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของพืชพลังงาน เนื่องจากราคาใกล้เคียงกัน และการลดเก็บเงินจากน้ำมัน 3 ชนิด จะทำให้กองทุนน้ำมันสูญเสียรายได้ประมาณ 6,160 ล้านบาทต่อเดือน จากฐานะกองทุนที่มีรายได้เป็นบวกอยู่แค่เพียง 1,064 ล้านบาท

แต่รัฐบาลยังคงตัดสินใจเลือกจะทำตามที่สัญญากับประชาชนที่เลือกเข้ามามากกว่า!!!

สุดท้ายนโยบายนี้ก็ออกอาการเป๋ เพราะราคาที่ถูกเกินไป ทำให้ประชาชนแห่มาใช้น้ำมันทั้ง 3 ชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะเบนซิน 91 ขณะที่ยอดขายน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ตกวูบ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ประชาชนรู้สึกว่าแพง เพราะราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ 2.27 บาทต่อลิตร

เมื่อสถานการณ์การใช้น้ำมันไม่สู้ดี สะท้อนจากยอดแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ตกฮวบ รัฐบาลจึงกลับลำ ด้วยการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกลุ่มแก๊สโซฮอล์ใหม่ โดยลดเก็บเงินจากน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ 95 เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร จากเดิม 2.40 บาทต่อลิตร เพิ่มเงินชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 1.40 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บเข้ากองทุน 10 สตางค์ต่อลิตร และเพิ่มเงินชดเชยให้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็น 2.80 บาทต่อลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ที่ 1.30 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้ง 3 ชนิดลดลงและมีส่วนต่างราคาจากกลุ่มเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.37 บาทต่อลิตร น้ำมันแกŠสโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 32.34 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 อยู่ที่ 31.34 บาทต่อลิตร โดยหวังว่าประชาชนจะกลับมาใช้อีกครั้ง

พร้อมกันนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 รัฐบาลยังกำหนดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน จากน้ำมันดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 1 บาทต่อลิตร และปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เฉพาะภาคขนส่ง เดือนละ 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 และเพิ่มขึ้นเดือนละ 75 สตางค์ต่อเดือน ติดต่อกันทุกเดือนจนถึงสิ้นปี 2555 รวมราคาที่เพิ่มขึ้นทั้งปี 9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะทำให้ราคาแอลพีจีเพิ่มไปอยู่ที่ 27.13 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนการปรับเพิ่มราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) จะมีการปรับขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมนี้เช่นกัน และจะเก็บเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมไปทุกเดือน จนถึงสิ้นปี 2555 เช่นกัน รวมราคาที่เพิ่มขึ้นทั้งปีของเอ็นจีวีอยู่ที่ 6 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อถึงตอนนั้นราคาเอ็นจีวีจะอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับสาเหตุของการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เนื่องจากบัญชีของกองทุนน้ำมันกำลังติดลบลงเรื่อยๆ จากนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาก่อนหน้า ประกอบกับการนำเงินจากกองทุนมาอุดหนุนให้กับแอลพีจี ประมาณ 2,153 ล้านบาทต่อเดือน และอุดหนุนให้กับเอ็นจีวี อัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยฐานะกองทุน ณ วันที่ 27 กันยายน 2554 ติดลบอยู่ที่ 1,302 ล้านบาท และล่าสุดวันที่ 6 มกราคม 2555 ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบมากถึง 14,550 ล้านบาท

และตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ไม่ใช่ว่าประชาชนทุกกลุ่มจะถูกรีดเงินเท่ากัน ทั้งหมด เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ยังมีคนบางกลุ่มที่รัฐบาลยังให้การโอบอุ้มดูแลอยู่ ด้วยการให้ส่วนลดราคาเอ็นจีวีจำนวน 2 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนถึงเดือนเมษายน 2555 โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาชดเชยให้ โดยกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถแท็กซี่ รถร่วม ขสมก. และรถบรรทุก รวม 70,000 คัน ที่ก่อนหน้านี้มารวมตัวกันปิดถนนเพื่อกดดันให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายขึ้นราคาก๊าซ สุดท้ายรัฐบาลก็ยินยอม ด้วยการยอมให้ส่วนลดกับกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งที่เป็นการปิดถนน ทำให้การจราจรติดแหง็ก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก เหมือนกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

พร้อมกับได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการขึ้นราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีให้กับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน แถมมีการเอ่ยคำขอโทษบุคคลกลุ่มนี้ ด้วยเหตุผลไม่สื่อสารให้เข้าใจ!!

กลายเป็นผลงานที่เกิดคำถามจากประชาชนว่า รัฐบาลมีศักยภาพแค่แก้ปัญหาม็อบได้เท่านี้เองหรือ!!

ทั้งนี้ หลังมีการปรับขึ้นราคาพลังงานในวันที่ 16 มกราคมแล้ว จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 31.09 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 91 จะเพิ่มเป็น 38.47 บาทต่อลิตร น้ำมันเบนซิน 95 จะเพิ่มเป็น 42.42 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะเพิ่มเป็น 37.19 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 จะเพิ่มเป็น 35.44 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 จะเพิ่มเป็น 34.44 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 จะเพิ่มเป็น 22.32 บาทต่อลิตร ส่วนเอ็นจีวีจะเพิ่มเป็น 9 บาทต่อกิโลกรัม แอลพีจี 18.88 บาทต่อกิโลกรัม

และเมื่อพลังงานกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ และราคาน้ำมันดีเซลทะลุเกิน 31 บาทต่อลิตร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะผู้ประกอบการรถขนส่งโดยสาร เรือโดยสารก็ออกมาประกาศทันทีว่าจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร เพราะเชื้อเพลิงชนิดนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำ

ดังนั้น ประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคการเกษตรก็หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่พ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน อย่างมนูญ ศิริวรรณ ได้ออกมาเตือนรัฐบาลให้บริหารจัดการราคาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงานยังพุ่งต่อเนื่อง มาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิหร่านกับชาติตะวันตก

ปัจจัยที่กล่าวมา ยังไม่รวมถึงปัจจัยต้นทุนการผลิตจากการปรับมาตรฐานเป็นน้ำมันยูโร 4 ที่ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 41 สตางค์ต่อลิตร ขณะเดียวกัน หากรัฐหันมาเก็บภาษีสรรพสามิตอีกเกือบ 5 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลก็พุ่งกระฉูดแน่นอน ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการภาษีสรรพสามิตนี้จะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมนี้

เป็นเสมือน "อั้งเปา" ซองแดงเบ้อเริ่มที่รัฐบาลมอบให้ฉลองวันตรุษจีน 23 มกราคมนี้

และเมื่อถึงตอนนั้น คนไทยก็คงต้องทำใจ

เพราะถึงเวลาที่รัฐบาลต้องรีดเงินอีกหลายยก เพื่อดูแลฐานะกองทุนไม่ให้ถังแตก

สุดท้ายประชาชนก็เป็นผู้รับกรรม!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์