วันนี้ ( 10 ม.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า
ตนแปลกใจที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในร่างพ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. จำนวน 1.1ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และเลขาธิการกฤษฏีกา ยืนยันว่าไม่มีการโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทไปให้ธปท.รับผิดชอบ แต่ภาระหนี้ดังกล่าวยังอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ในวันนี้กลับมีการระบุว่าการชำระหนี้ทั้งเงินต้นแต่ดอกเบี้ยให้เป็นภาระของธปท.ไปกำหนดกรอบการชำระหนี้ ซึ่งตนเชื่อว่าเนื้อหาเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่นายกิตติรัตน์ เคยคุยกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯธปท.แน่นอน และ นายประสารก็ยังไม่เคยเห็นร่างพ.ร.ก.ที่ครม.มีมติอนุมัติวันนี้ ถือว่าไม่ถูกต้องเพราะการจะออกกฏหมายที่ใช้อำนาจโดยฝ่ายบริหารไปบังคับให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไปปฏิบัติตามควรต้องมีการหารือกับผู้บริหารของหน่วยงานนั้น และรัฐบาลควรจะทำความกระจ่างให้สังคมว่าเหตุใดหนี้จึงถูกโอนไปให้ธปท.รับภาระแทนกระทรวงการคลัง และทำไมจึงไม่พูดความจริงต่อสาธารณะชนแต่แรกว่าจะทำเช่นนี้
“ผมคิดว่าการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้มีพฤติดรรมลับๆล่อๆไม่ต่างจากพ.ร.ก.พระราชทานอภัยโทษ ขณะนั้นหากสังคมไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านเราก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น มาถึงพ.ร.ก.โอนหนี้ให้ธปท.เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ว่าธปท.ไม่เคยเห็นเนื้อหานี้ ยิ่งตอกย้ำความเป็นเผด็จการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารไปบังคับธนาคารกลางของประเทศ เพราะแม้จะรู้ว่าจะไม่มีการให้ธปท.พิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หรือใช้เงินจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ไม่มีการพูดให้ชัดเจนว่าแล้วธปท.จะเอารายได้จากไหนมาชำระหนี้เหล่านี้ ทางพรรคจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอนเพราะไม่ใช่เป็นเรื่องเร่งด่วน”นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ยังกล่าวถึงเงื่อนไขในร่างพ.ร.ก.ที่กำหนดแหล่งที่มาของเงินที่ให้ธปท.นำมาชำระหนี้กองทุนฟื้นฟู
โดยนำเงินจากกำไรจาก3 แหล่ง คือกำไรของธปท. กำไรจากการบริหารเงินทุนสำรอง และให้เก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพิ่ม คำถามคือหากรวบรวมจากทั้ง3แหล่งนี้แล้วแต่ยังไม่พอในการชำระหนี้จะให้ธปท.ทำอย่างไร จะออกพันธบัตรไปเรื่อยๆหรือไม่ เพราะธปท.ไม่มีหน้าที่ออกพันธบัตร อีกทั้งหากจะให้ธปท.เข้าไปค้ำประกันพันธบัตรให้กองทุนฟื้นฟู คนที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่จะยินยอมหรือไม่