ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ
เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค.2554 ที่บอกว่าจะไปพูดคุยกับฝ่ายกัมพูชา ถึงเหตุการณ์ที่กัมพูชายิงเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของไทยนั้น ปรากฏว่านายสุรพงษ์ ยังไม่มีการทำหนังสือทักท้วงอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และน่าเสียใจที่นายสุรพงษ์ กลับมาได้อย่างเดียวคือ การไปเจรจาเปิดบ่อน้ำมันและบ่อแก็สในทะเลตามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน พ.ศ.2544 ไม่ใช่ไปแสดงออกถึงสิทธิเหนือดินแดนของไทยต่อกัมพูชาเลย
“ไม่มีการหยิบยกเรื่องเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงมาพูดบนโต๊ะ ปล่อยให้กัมพูชาไปพูดว่าไทยเป็นผู้รุกรานจึงถูกยิงเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะถูกบันทึกว่าไทยยินยอมให้กัมพูชานำไปกล่าวอ้าง ถือเป็นความอัปยศของนายสุรพงษ์ที่ทำความเสียหายให้กับประเทศ และอยากจะขอท้าให้นายสุรพงษ์รีบทำเรื่องการเจรจาเอ็มโอยูปี 44 เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถอยหลังของรัฐบาลชุดนี้ เพราะไทยเสียดินแดนชัดเจนจากการขีดเส้นล้ำเข้ามาในประเทศไทย” นายชวนนท์ กล่าว
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายเพิ่มค่าครองชีพในวันที่ 1 ม.ค.2555 ว่า
นโยบายของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลหลายอย่างไม่ได้มีเจตนาช่วยเหลือคนจน หรือไปแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้อย่างที่หาเสียงไว้ เช่น กรณีประกาศขึ้นราคาเอ็นจีวี และราคาแอลพีจี 1 บาทต่อลิตรต่อเดือน จนกว่าจะถึง 15 บาท ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ชี้แจงถึงราคาโครงสร้างของพลังงานให้ประชาชนทราบว่าราคาแก๊ส ค่าขนส่ง ราคาหน้าปั๊มมีโครงสร้างราคาอย่างไร แต่รัฐบาลกลับทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการฟังเสียงทักท้วง และดูเหมือนไม่มีมาตรการมารองรับทั้งผู้ค้า ค่าขนส่งที่ต้องได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคา ซึ่งยังไม่รวมค่ารถโดยสาร รถส่วนบุคคล ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าโดยสารสูงขึ้นที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งค่าเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นของขวัญอย่างแรกที่ได้รับจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คือค่าโดยสาร ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นทันที