ในปี 2554 เมืองไทยมีรัฐบาลสองน้ำ คือรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถือเป็นการเมืองต่างขั้วอย่างสิ้นเชิง จึงประชันผลงานให้เข้าตาประชาชนมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ประชาชนจะโหวตเลือกใคร เริ่มจาก
ไข่ไก่ชั่งกิโล
สร้างความฮือฮาไปทั่วตลาด เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2554 คือการซื้อขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม หวังให้ประชาชนมีทางเลือกและซื้อไข่ได้ถูกลง
กระทรวงพาณิชย์ ได้สนองนโยบายแบบฉับไวด้วยการนำร่องซื้อขายในตลาด 30 แห่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล กำหนดราคาปลีก 53 บาท/กิโลกรัม เริ่มวันที่ 1 ก.พ. แต่พอถึงวันจริงมีตลาดยิ่งเจริญ ย่านสะพานใหม่ ที่เดียวที่รักษาหน้าตารัฐบาล
ส่วนตลาดอื่นๆอ้างว่ารอตาชั่งจากพาณิชย์บ้าง ไม่มีถุงพลาสติกบ้าง จากนั้นอีกหลายวันจึงทยอยขายแต่แทบไม่มีใครสนใจซื้อไข่ชั่งกิโล
แม้จะโดนวิจารณ์จนหูชาถึงความยุ่งยากหลายด้าน แต่รัฐบาลไม่ถอดใจจับไข่ชั่งกิโลเข้าโมเดิร์นเทรดหลายแห่ง แต่ก็หงอยสนิทเช่นกัน
หลังครบ 3 เดือนตามกำหนด ประเมินนโยบายแป๊กไปสนิทใจ
งบจ้างบริษัทแมคเคนซี่ จำกัด ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทย 69 ล้านบาท บวกงบดำเนินโครงการนี้อีก 10 ล้านบาท
ละเลยหายไปในพริบตา
สวาปาล์มน้ำมัน
กระแสขาดแคลนน้ำมันปาล์มปะทุแรงตั้งแต่ต้นปี 2554
แม่บ้านแทบหาซื้อมาปรุงอาหารไม่ได้ ไปห้างก็จำกัดครอบครัวละไม่เกิน 2 ขวด ไปเดินตลาดหากได้ก็ราคาแพงแทบลมจับ
สาเหตุก็ว่าไปตามตำรา ผลผลิตปาล์มมีน้อย ย่อมขาดตลาดเป็นธรรมดา
รัฐบาลจึงอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์ม 2 ล็อต รวม 6 หมื่นตัน
นำเข้าล็อตแรกปลายม.ค. 3 หมื่นตัน ก็แย่งกันจ้าละหวั่น เลยได้เห็นภาพชาวบ้านเข้าคิวโชว์บัตรประชาชนซื้อน้ำมันที่กระทรวงพาณิชย์ขนไปขายที่ศาลากลางจังหวัด พอนำเข้าล็อตสองเดือนก.พ.ปัญหาเริ่มทุเลา เพราะผลผลิตปาล์มในประเทศเริ่มออกมา
ไม่ทันไร กรมการค้าภายใน ไฟเขียวขึ้นราคาขวดลิตรอีก 9 บาท จาก 38 บาทพรวดเป็น 47 บาท
ต่อมาพรรคเพื่อไทย ออกมาแฉมีอักษรย่อ "ส" "พ" สวาปาล์มน้ำมัน ทำให้ทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ออกมาท้าให้เปิดชื่อกันจ้าละหวั่น
จนรัฐขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เข้ามาสอบสวน
แต่แล้วก็ไม่มีอะไรในกอไผ่!!
เรียลลิตี้โชว์ผลงาน จากยุคมาร์คถึงครม.ปู
สินค้าแห่ขึ้นราคา
แม้รัฐจะมีนโยบายตรึงราคาสินค้าถึงวันที่ 31 มี.ค.2554
แต่ผู้ประกอบการก็ขยับราคาสินค้าบางรายการไปก่อนแล้ว มีทั้งขยับบนดินและใต้ดิน ที่ว่าขยับบนดินคือได้รับอนุมัติจากกรมการภายในอย่างถูกต้อง ส่วนใต้ดิน เช่น ลดน้ำหนักหรือขนาดสินค้าแต่ขายในราคาเดิม
ส่วนสินค้าที่จ่อคิวขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าควบคุม แต่ผู้ประกอบการก็ยื่นเรื่องขอขึ้นราคายาวเป็นหางว่าวไว้ก่อนแล้ว
เมื่อสิ้นสุดวันตรึงราคา รัฐบาลพยายามปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็ค่อยๆ ปรับราคาขึ้น เพื่อให้ประชาชนรับได้
ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคได้ทยอยขอปรับราคา เนื่องจากวัตถุดิบราคาแพงขึ้น เช่น นม น้ำมันถั่วเหลือง ปุ๋ย เหล็ก สายไฟฟ้า แบตเตอรี่รถยนต์ และน้ำมันหล่อลื่น ไม่เว้นแม้แต่หมู ตามท้องตลาด
กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาอนุมัติให้สินค้าหลายรายการปรับขึ้นราคา ให้เหตุผลว่าเป็นไปตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ชาวบ้านก็ต้องก้มหน้าซื้อของแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แข่งช็อปของถูก
ท่ามกลางสถานการณ์สินค้าแห่ขึ้นราคา คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ก็เสนอไอเดียการจัดทำรายการโทรทัศน์แบบเรียลลิตี้โชว์
นางชุติมา บุณยประภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในคณะทำงาน ให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรให้ผู้บริโภค
มีสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบโครงการ ตั้งงบประมาณไว้ 20 ล้านบาท เพื่อทำเรียลลิตี้โชว์ 8-10 ตอน โดยให้ผู้บริโภคทางบ้านสมัครเข้าร่วมแข่งขันเกมในรายการ เช่น แข่งขันจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าให้ได้มากที่สุด ราคาถูกที่สุด
อีก 6 เดือนหลังจากเสนอไอเดียเมื่อวันที่ 31 ม.ค.มีกำหนดออกอากาศเป็นตอนแรก
ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ที่รัฐบาลจะโดดลงมาทำเรียลลิตี้โชว์แบบนี้
แต่ในที่สุดไอเดียนี้ก็เป็นแค่สีสันทางการเมือง เพราะไม่มีการสานต่อแนวคิดแม้แต่น้อย
กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 ก.ค.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
ประชานิยมด่วนจี๋
หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. อีก 3 วันถัดมาคือ 26 ส.ค. นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโชว์ผลงานชิ้นแรกแบบด่วนจี๋ด้วยการนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทุบโต๊ะยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีผลให้ราคาน้ำมันถูกลงลิตรละ 3-8 บาท ในวันรุ่งขึ้น
มาตรการนี้ทำให้รายได้รัฐหายไป 1.66 พันล้านบาทต่อเดือน
ตามมาติดๆด้วยนโยบายบ้านหลังแรกสำหรับคนซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้คืนภาษี 10% เริ่ม 22 ก.ย.2554 จนถึง 31 ธ.ค. 2555 และรถคันแรก ที่คืนเงินภาษีเท่ากับที่จ่ายจริงแต่ได้ไม่เกิน 1 แสนบาท เริ่ม 1 ต.ค.2554 ถึง 31 ธ.ค.2555
ทุกนโยบายล้วนถูกวิจารณ์หนัก อย่างลดราคาน้ำมันมากมายเกินจำเป็น และยังทำให้ส่วนต่างเบนซินกับแก๊สโซฮอลล์น้อยมาก จนทุบนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนยับเยิน
หรืออัพราคาบ้านหลังแรกจาก 3 ล้านบาทเป็น 5 ล้านบาท ทำให้บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)ของครอบครัวชินวัตร ได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่
ทำเอารัฐบาลเสียรังวัดไปพอสมควร
หว่านเงินรากหญ้า
คนรากหญ้า ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่พรรคการเมืองจะลืมไม่ได้
ยุคนี้คนรากหญ้าก็ไม่ผิดหวัง จากที่คาดหวังไว้ว่านโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้จะนำมาสู่ภาคปฏิบัติโดยเร็ว
นโยบายสำคัญ อาทิ การพักหนี้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี
จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้มีอายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาท อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับ 1,000 บาท
เพิ่มเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท
นโยบาย 2 ข้อแรก คลอดออกมาตามนัด เริ่ม 1 ต.ค.2554 เงินเดือนปริญญาตรีเริ่ม 1 ม.ค.2555
แต่ขึ้นค่าแรงยืดออกไปเป็น 1 เม.ย.2555 โดยยึดเกณฑ์ปรับ 40% ทั่วประเทศ ส่งผลให้มีแค่ 7 จังหวัดที่ค่าแรงถึง 300 บาทคือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต
ส่วนที่เหลือจะได้ครบทุกจังหวัดในปี 2556
แม้เกิดวิกฤตน้ำท่วม นโยบายเหล่านี้ก็ไม่มีถอย
ปลุกผีจำนำข้าว
อีกนโยบายสำคัญที่พลิกกระดานในวงการข้าว
คือการล้มโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับมาเป็นโครงการรับจำนำข้าวเหมือนอย่างที่เคยทำในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในวงกว้างว่าโครงการไหนดีกว่ากัน ขณะที่หนี้เก่าที่รัฐบาลค้างชำระธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากการรับจำนำข้าวในอดีตประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ก็ถูกขุดขึ้นมาชำแหละอีกครั้ง
เรื่องนี้ยังทำวงการข้าวปั่นป่วน เพราะรัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูงลิ่ว โดยเฉพาะข้าวขาวตันละ 1.5 หมื่นบาท และข้าวหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท
แถมยังรับจำนำข้าวทุกเม็ด ทำให้ราคาข้าวปรับตัวต่อเนื่อง และยังมีผลให้รัฐบาลต้องกู้เงินถึง 2.69 แสนล้านบาทเพื่อให้ธ.ก.ส.ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555
ดีเดย์ 7 ต.ค. เปิดรับจำนำข้าว ถึงวันที่ 29 ก.พ.2555 ส่วนภาคใต้ เริ่ม 1 ก.พ.-31 ก.ค.2555
เป็นการเริ่มต้นในช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด
ต้องจับตาว่าจะมีมหกรรมการโกงอย่างที่หวั่นกันหรือไม่
น้ำท่วมเอา(ไม่)อยู่
วิกฤตน้ำท่วม นอกจากเป็นงานรับน้องแล้วยังเป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาล"ปู"
น้ำเหนือที่เริ่มไหลบ่าลงมายึดพื้นที่หลายจังหวัดภาคกลางในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. น้ำไปที่ไหนนายกฯประกาศว่า"เอาอยู่" แต่ก็เอาไม่อยู่ซักที
กระทั่งจมนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง แล้วเข้าโจมตีเมืองหลวงนานนับเดือน
การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างยากลำบาก สินค้าจำเป็นขาดแคลนและมีราคาแพง จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
นายกฯยอมรับภัยพิบัติครั้งนี้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 1.3 ล้านล้านบาท ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงอย่างน่าตกใจ
คาดว่าจะส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้โตแค่ 1.5-2.5%
ภาคเอกชนให้คะแนนรัฐบาลปูสอบตกการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้
แต่หอการค้าไทยคาดหวังว่าหากสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้ในเดือนก.พ.หรือมี.ค.2555ก็มีโอกาสที่จีดีพีปี2555 จะเติบโตได้ 4-5%
และนั่นถือเป็นโอกาสในการแก้ตัวของรัฐบาล"ปู"