"ชุมพล"หนุนรัฐบาลเสนอแก้รธน.50 ในสมัยนิติบัญญัติ พร้อมแนะ คนยกร่าง ต้องเป็นคนมีต้นทุนทางสังคม - ประชาชนเชื่อมัน ชูโมเดลส.ส.ร.สมัยชาติไทยเป็นโมเดลแก้รธน.50 ด้าน "สมศักดิ์" ค้านการชะลอแก้รธน.
วันที่ 23 ธ.ค.54 นายชุมพล ศิลปอาชา รีฐมนตรีว่าการกระทรวงการทองเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวสนับสนุนให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการเดินหน้ายื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อสภาผู้แทนราษฏร ในสมัยประชุมนิติบัญญัติ โดยไม่ต้องรอเวลาถึงเดือนสิงหาคม เพราะคาดว่าจะใช้ระยะเวลาแก้ไขนานประมาณ 8-12เดือน ตนในฐานะอดีตผู้ยกร่างกำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มองว่า แนวทางแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตย รวมถึงสังคมให้การยอมรับ โดยบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ต้องเป็นบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคม และสามารถสร้างความเชื่อมั่น ได้รับความไว้ใจจากประชาชนว่าไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ส่วนจะเป็นใครนั้น เชื่อว่าสื่อมวลชนรู้ดี
"การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง หากพูดให้ชัดเจนว่า ไม่ได้แก้ไขเพื่อพาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก กลับบ้าน อีกทั้งไม่แก้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้า เพราะขณะนี้สังคมส่วนใหญ่สนับสนุนและพร้อมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ"นายชุมพล กล่าว
ส่วนการนำเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนานั้นขณะนี้มีในใจแล้ว เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหา, การยุบพรรคการเมือง, องค์กรอิสระ พรรคเห็นด้วยที่จะเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญจากมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ส่วนรายละเอียดที่มา ส.ส.ร. นั้น อยากให้นำบทบัญญัติมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534 ที่มีการแก้ไขแล้วมาเป็นต้นแบบ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคน ที่ระบุให้ชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะไม่ใช่วาระเร่งด่วน รวมถึงอยากให้เร่งฟื้นฟู เยียวยาเศรษฐกิจประเทศก่อน เพราะรัฐบาลมีบุคลากรจำนวนมาก และได้ตั้งคณะทำงานหลายคณะเพื่อดูแลงานด้านต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าการฟื้นฟู, เยียวยา และ ประชาธิปไตย สามารถทำคู่ขนานกันไปได้ เพราะเป็นเนื้องานคนละประเด็น จึงไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งตนไม่อยากให้นำประเด็นนี้มาเป็นข้ออ้าง
"การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่สะท้อนความน่าเชื่อถือของรัฐบาล วันนี้เรายังมีรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร และรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ทำไมจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความขัดแย้งนั้น ผมเชื่อว่า วันนี้สังคมได้มาถึงจุดที่สุดแล้ว จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งไม่ได้สะสาง ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม เชื่อว่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ได้" นายสมศักดิ์ กล่าว