รมว.กลาโหม สั่ง เหล่าทัพ จัด สห.500 นาย คุมปีใหม่ เน้น จุดเสี่ยง งานเคาน์ดาว ติง สื่อฯ เลิกเรียก 'ถอนทหาร' เป็น 'ปรับกำลัง'ดักคอตำรวจอย่าทิ้งหน้าที่หากดูพื้นที่แทน
22 ธ.ค.54 เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมสภากลาโหม ถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า จะสั่งการในที่ประชุมสภากลาโหม โดยให้กองทัพไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และ 3 เหล่าทัพ ใช้สารวัตรทหารของแต่ละหน่วยเสริมกำลังให้ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อย ความสงบสุขของประชาชนในวันปีใหม่ อย่าให้มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ หรือขาดความสุขในการเตรียมการต้อนรับปีใหม่ รวมถึงไม่อยากให้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น ซึ่งการเสริมกำลังนั้นขอให้ดูจุดที่สำคัญ ทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงต่าง ๆ ว่ามีจุดไหนบ้าง จุดที่จัดงานปีใหม่ จะขอให้เอาใจใส่เสริมกำลัง ในขณะเดียวกันศูนย์ปฎิบัติการของเหล่าทัพที่มีอยู่ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม และได้เห็นมาแล้ว ท่านก็ได้สั่งการว่าให้ใช้ศูนย์นี้ติดตามข่าวสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางตำรวจ เพื่อจะได้ดูแลให้เกิดความกระชับ และแน่ใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่ กทม.
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแต่งตั้งสารวัตรทหารให้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่ต้อง เพราะมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เป็นหน่วยงานหลักที่ควบคุมดูแลสารวัตรทหาร โดยมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายนอกกรมกองอยู่แล้ว ทั้งนี้เราสามารถเป็นเจ้าหน้าที่ในการสนับสนุนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เบื้องต้นจะให้กำลังสารวัตรทหาร 3 เหล่าทัพ ประมาณ 400-500 นาย โดยกองทัพบก จะดูพื้นที่กทม. ชั้นใน กองทัพเรือ รับผิดชอบดูแลฝั่งธนบุรี และกองทัพอากาศ ดูแลพื้นที่ดอนเมือง และพื้นที่ย่านสายไหม
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการกดดันให้ปล่อยตัว นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้สถานการณ์วุ่นวายมากขึ้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าอย่างนั้น ความสุขของประชาชนในวันปีใหม่คงจะไม่มีการก่อกวนในลักษณะที่วุ่นวายเช่นนั้น
ส่วนจะมีโอกาสพูดคุยกับแกนนำคนเสื้อแดงเพื่อไม่ให้มากดดันศาลหรือไม่นั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ตน ตนดูแลเรื่องความมั่นคง และความสงบสุขเป็นส่วนร่วม จะไม่เข้าไปถึงบุคคลภายในพรรค
ส่วนที่ทนายของ นายอริสมันต์ ระบุว่า อยากให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีค้ำประกัน พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือทาบทาม ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าได้รับการทาบทามก็ต้องหารือกับทางกฎหมายในส่วนของทหาร คือเจ้ากรมพระธรรมนูญ ว่าเรามีอำนาจหน้าที่หรือขอบเขตความสามารถในการช่วยเหลืออย่างไร ในเรื่องของความรู้สึกในฐานะที่ตนปกครองทหาร และครอบครัว เราก็เห็นใจทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เราเห็นใจภรรยา ลูกที่ไม่ได้ใกล้ชิดพ่อ เพราะฉะนั้นถ้ามีขอบเขตแค่ไหนต้องคุยกันอีกทีในอนาคต ทั้งหมดนี้หากได้รับการประสานมา แต่ถ้าไม่ได้รับการประสานก็ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงกลาโหม แต่ในเรื่องของมนุษยธรรมความรู้สึกก็อีกอย่างหนึ่ง เพราะเราปกครองกองทัพ ทหาร เราเห็นใจครอบครัวที่ขาดพ่อ
เมื่อถามว่า พฤติกรรมของนายอริสมันต์ ที่มีต่อบ้านเมือง สถาบัน ยิ่งใหญ่กว่าครอบครัวหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า “ก็นั่นนะซิ ผมจึงต้องบอกว่าต้องคุยกับฝ่ายกฎหมายของกระทรวงก่อน ว่าผมเกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน”
ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ นั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของทางการเมือง ในความรู้สึกส่วนตัวรัฐบาลควรฟังเสียงส่วนรวม รัฐสภาและครม.จะว่าอย่างไร แต่โดยส่วนตัวแล้วตนไม่เข้าไปแตะต้องในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า มาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการแก้ไขเป็นเรื่องของการป้องกันการกระทำความผิด ควรจะคงไว้หรือต้องแก้ไข พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูทีละมาตรา ถ้าพูดเป็นส่วนรวมพูดยาก
รมว.กลาโหมติงสื่อเลิกเรียกถอนทหารเป็นปรับกำลัง
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าวโดยใช้คำว่าถอนกำลังทหาร จากบริเวณพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารนั้นว่า ตนขอชี้แจง และขอร้อง ว่า ขอให้เลิกเรียกคำว่าถอนกำลังทหาร ขอให้ใช้คำว่าปรับกำลังทหารทดแทน เพื่อความเหมาะสม ในพื้นที่ที่ทหารเข้าไปอยู่หากมีการปรับเปลี่ยนเราก็จะเอาตำรวจเข้าไปทดแทนทหาร ทุกจุดที่ทหารเคยเฝ้าดูอยู่ เพื่อดูพื้นที่เหล่านั้น ไม่ใช่การถอนทหารออกมา และทิ้งพื้นที่ให้อยู่ในมือของคนอื่น ฝากไปยังสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ที่มักจะใช้ คำว่าถอนทหาร
นอกจากนี้ หากมีการทดแทนกำลังแล้ว เราจะให้ทหารดูเรื่องยุทธการณ์ด้วยว่า ถ้าตำรวจเข้าไปแล้วอย่าแอบหนีออกมา ต้องอยู่เฝ้าเหมือนทหารอยู่