เผยมุ่งใช้งบปกติไปกับโครงการประชานิยม หวังใช้เงินกู้ช่วยน้ำท่วม หวั่นซุกหนี้ในสถาบันการเงิน สั่งทีมเศรษฐกิจปชป.จับตาใกล้ชิด
วันนี้ ( 21ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมครม.เงา พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังการประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมครม.เงาได้ติดตามเรื่องปัญหาน้ำท่วม โดยพรรคจะระดมความเห็นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ เพื่อเก็บข้อมูลและทำรายงานเบื้องต้น คาดว่าภายในปลายเดือนธ.ค.54-ต้นเดือนม.ค. 55 จะมีรายงานออกมา และที่มีข้อสังเกตสำคัญคือในรายงานที่ศปภ.ทำถึงครม.เป็นครั้งแรกที่ศปภ.บอกว่าได้เบี่ยงน้ำไม่ให้ผ่านไปทางพื้นที่ที่เป็นฟลัดเวย์
ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่พรรคประชาธิปัตย์มีมาตลอดว่าปลายทางที่จะระบายน้ำไปพื้นที่ตะวันออกของกทม.ไปทางจ.สมุทรปราการ ไม่มีน้ำไป เท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการระบายน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่คิดว่าต้องมีการนำมาทบทวนการบริหารจัดการ ทำให้เกิดคำถามว่าการลงทุนในระบบระบายน้ำในทิศทางที่ไม่ได้ใช้ในคราวนี้เป็นเพราะอะไร เพราะจะเป็นคำตอบสำคัญสำหรับการวางแผนในอนาคต และต้องมีคำอธิบายให้มากกว่านี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพราะตอนนี้ต่างชาติจับตาดูอยู่ว่าแนวทางการแก้ปัญหาสอดคล้องกับข้อมูลที่เขาทราบหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมครม.เงายังได้ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่นงบประมาณข้าวกล่อง 3.6 แสนกล่องต่อวัน และกรณีการโอนงบศปภ.ผ่านสำนักงานส.ส.ลพบุรี การอนุมัติเงินบริจาคและเงินงบประมาณผ่านช่องทางต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสม ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มอบให้คณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่รัฐบาลกำลังเตรียมกู้เงินหรือใช้ธปท.เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ ซึ่งต้องมีการแก้กฎหมาย ทางพรรคได้มอบให้นายกรณ์ จาติกวณิช รองนายกฯเงา นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.คลัง เงา นายสรรเสริญ สะมะลาภา รมช.คลัง เงา ดูภาพรวมการใช้งบทั้งหมด ทั้งนี้พรรคมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลอ้างวิกฤติน้ำท่วมและผลกระทบมาเปิดช่องทางให้มีการกู้เงิน หรือให้สถาบันการเงินของรัฐมารับไป ซึ่งในส่วนงบประมาณปกติรัฐกลับนำไปใช้ในนโยบายอื่นที่ไม่เร่งด่วนและใช้ในลักษณะประชานิยม เท่ากับว่ารัฐบาลผลักภาระการแก้ปัญหาน้ำท่วมไปสู่อนาคต แต่พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินอย่างเต็มที่กับนโยบายของรัฐบาล ที่มีความสำคัญเร่งด่วนน้อยกว่าปัญหาน้ำท่วม
เมื่อถามถึงกรณีที่รัฐบาลผลักภาระให้กับสถาบันการเงิน จะกลายเป็นการซุกหนี้ไว้กับสถาบันการเงินหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทำนองนั้น เพราะนโยบายที่รัฐบาลอยากเร่งทำก็จะทุ่มงบประมาณอย่างเต็มที่ และจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณในการช่วยเหลือน้ำท่วม เพื่อไปแก้กฎหมายต่าง ๆ เช่นการออกกฎหมายกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ และการใช้ธนาคารของรัฐรวมถึงความคิดที่จะแก้กฎหมายธปท. โดยวงเงินกู้ในขณะนี้ที่พูดกันน่าจะประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท
ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะมีการขยายการกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ หรือการเอาภาระบางส่วนไปไว้ที่ธนาคารของรัฐก่อน แล้วถึงจะย้อนมาเป็นปัญหาของรัฐบาลทีหลังในช่วงที่จะต้องอุดหนุน ซึ่งรัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะซ้ำรอยประเทศอื่นในยุโรปได้ แต่อาจจะโชคดีว่าฐานะเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในฐานะที่ดีสมควร แต่ไม่ควรประมาท
ดังนั้นรัฐบาลควรหารือในวงกว้าง เพราะเกี่ยวกับกติกาการเงินการคลัง ควรมาจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่าง ๆ และมีแผนการคลังระยะปานกลาง ไม่ใช่หาเงินมาทีละก้อนแล้วไม่ดูว่าทิศทางภาพรวมการบริหารการคลังเป็นอย่างไร ที่สำคัญถ้าเริ่มต้นที่จะแก้กฎหมายต่อไปก็จะทำให้ปัญหาสะสมไป หากใช้วิธีการซ่อนหรือซุกเอาไว้ก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ.